เคาะ '4CsELV' ข้อสรุปเสา 'สังคมและวัฒนธรรม' อาเซียน
รมว.พม. แจงผลประชุมคณะมนตรีฯ สังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เน้นความร่วมือเรื่องเด็ก การศึกษา สภาพภูมิอากาศ วัฒนธรรม การพึ่งตนเองด้านวัคซีน และพัฒนาบุคลากรภาครัฐ เตรียมนำข้อสรุป "4CsELV" เสนอต่อที่ประชุมอาเซียนซัมมิต
วันนี้ (2 พ.ย. 62) เวลา 12.00 น. ที่ห้อง Royal Orchid Ballroom 1 โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน กรุงเทพฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในฐานะหัวหน้าคณะมนตรีประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน เป็นประธานการแถลงข่าวสรุปผลการจัดประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ 22 (22nd Meeting of the ASEAN Socio-Cultural Community (ASCC) Council Meeting) เพื่อนำเสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นายจุติ กล่าวว่า ในปี 2562 ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้กำหนดจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 และครั้งที่ 35 ซึ่งมีผู้นำของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประชุม ยังรวมถึงการจัดประชุมและการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน จำนวน 284 รายการ ตลอดปี 2562
สำหรับการดำเนินงานของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทย ในปี 2562 ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการภายใต้แนวคิดหลักการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทยดังกล่าว เป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน “3/4/14” นั้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปด้วยดี และประเทศไทยสามารถผลักดันแผนงานหลักประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 (ASCC Priority Areas 2019) ในทุกด้าน โดยสามารถสรุป
โดยใช้อักษรภาษาอังกฤษ "4CsELV" ดังต่อไปนี้
C ตัวแรก คือ Children (เด็ก) ในปีนี้ เป็นโอกาสพิเศษที่มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: UNCRC) ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาฉบับดังกล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 จะมีเอกสารผลลัพธ์สำคัญที่เกี่ยวกับเด็กโดยตรง จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารเพื่อการรับรอง จำนวน 3 ฉบับ ดังนี้
1) ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ในอาเซียน
2) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิของเด็กในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐาน
3) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการยืนยันคำมั่นในความก้าวหน้าการดำเนินงานสิทธิเด็กในอาเซียน และเอกสารเพื่อรับทราบ จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ แนวทางและกระบวนการในการตอบสนองต่อความต้องการของเหยื่อการค้ามนุษย์ตามอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรuและเด็ก
C ตัวที่สองคือ Climate sustainability (ความยั่งยืนด้านสภาพภูมิอากาศ) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ผู้นำอาเซียน ได้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน และได้รับทราบกรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล
และในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 นี้ จะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25
C ตัวที่สามคือ Culture (วัฒนธรรม) ซึ่งผู้นำอาเซียนได้รับรองแถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับ “ปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562” ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
C ตัวที่สี่คือ Civil Service (ราชการพลเรือน) มีเอกสารผลลัพธ์สำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ถ้อยแถลงอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการเร่งยกระดับภาคราชการพลเรือนในยุคดิจิทัล ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35
นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ E คือ Education (การศึกษา) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ผู้นำอาเซียนจะมีการรับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
และจะรับทราบแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น L คือ Labour (แรงงาน) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ที่ผ่านมาผู้นำอาเซียนได้รับทราบเอกสารจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ถ้อยแถลงรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยเรื่องอนาคตของงาน: การส่งเสริมเทคโนโลยีและการเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วม และแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนว่าด้วยข้อริเริ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อการประชุมใหญ่แรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 108
และ V คือVaccine (วัคซีน) ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ผู้นำอาเซียนให้ความเห็นชอบเอกสารผลลัพธ์สำคัญ คือ ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีนในภูมิภาคอาเซียน
“ทั้งนี้ การเป็นประธานอาเซียนและการจัดประชุมอาเซียนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ตลอดปี 2562 ก่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยและคนไทยในหลายด้าน สำหรับในมิติด้านสังคมและวัฒนธรรม ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์โดยตรงด้านรายได้และการส่งเสริมการท่องเที่ยว จากการที่ผู้นำประเทศ คณะผู้แทน สื่อสารมวลชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากประเทศสมาชิกอาเซียน เดินทางมายังประเทศไทย
อีกทั้งเป็นการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเป็นประชาคมอาเซียนผ่านการดำเนินงานโครงการและกิจกรรม และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ นอกจากนี้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ ด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ด้านราชการพลเรือน ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน และด้านสวัสดิการสังคม และการพัฒนา อันเป็นผลจากนำเอกสารผลลัพธ์สำคัญ ซึ่งผู้นำอาเซียนให้การรับรองและรับทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายจุติ กล่าวในตอนท้าย