'ธนาธร' แนะรัฐแก้ทุนผูกขาด-หนุนทุนท้องถิ่น
“ธนาธร” แนะนำวิธีบริการจัดการบัญชี-แนวคิดเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส พัฒนาปรับปรุงทักษะบุคลากร-อุปกรณ์ ฝากรัฐแก้ทุนผูกขาด-ให้โอกาสทุนท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน
วันนี้ (3 พ.ย.) ที่สำนักงานใหญ่พรรคอนาคตใหม่ อาคารซัมมิทไทยทาวเวอร์ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “เศรษฐกิจซบเซาและซึมยาว SME ไทยจะรับมืออย่างไร? ”ซึ่งเป็นการบรรยายเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจขนาดกลางและเล็กในภาวะวิกฤติ ด้านมาตรการทางการเงิน : การบริหารหนี้และเงินสด และด้านมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน : การจัดการองค์กร/ทรัพยากรมนุษย์ในช่วงวิกฤติ
นายธนาธรเริ่มกล่าวถึงมาตรการทางการเงิน การบริหารธุรกิจขนาดกลางและเล็กให้คำแนะนำ ในการจัดเก็บทางบัญชี ซึ่งกล่าวถึงการแยกประเภทบัญชีทางการเงินว่า ในการลงทุนทำกิจการตรงนี้สำคัญที่ต้องแยกบัญชีเงินลงทุน กับเงินตัวเอง เพราะหากกิจการมีผู้ถือหุ้น ไม่ได้เป็นเจ้าของคนเดียว แล้วถ้าเกิดวิกฤติเรานำเงินตัวเองไปเสริมจะเป็นปัญหาการทำงบัญชีว่าเงินมาจากไหน แล้วการตกลงกับหุ้นส่วนอาจมีปัญหา
“ต้องเคลียร์กันให้ชัดว่าเป็นเงินเพิ่มทุน หรือเงินกู้ ดังนั้นหากจะใส่เงินสดลงไปในองค์กรต้องให้ชัดว่าใครใส่บ้าง แล้วจะให้เป็นการเพิ่มหุ้น หรือเงินกู้ เป็นความสำคัญเพราะสถานะต่างกันหากเป็นเงินกู้เราที่เพิ่มเงินสดจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้แล้วหากบริษัทเลิกกิจการ เงินจะถูกจัดให้เป็นเจ้าหนี้ก่อนแล้วต่อมาจึงจะจัดสรรให้หุ้นส่วน”
นายธนาธรยังพูดถึงสิ่งที่กระทบการลงทุนกิจการต่าง ๆ คือยอดขาย หากไม่เป็นไปตามเป้าก็พัง โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือการประเมินตัวเองเพื่อให้รู้สถานะตัวเองก่อนในวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเข้าใจ Bottom line ตัวเราเองว่ายอดขายบดลงเท่าใดแล้วเราจะขาดทุน แล้วเราหาทางแก้ปัญหาเช่น การลดเงินผู้บริหารก่อน ซึ่งตนยึดเป็นหลักเสมอว่าหากเกิดวิกฤติจะทำเป็นอย่างแรก เป็นการแสดงความรับผิดชอบก่อ่นที่จะไปพิจารณาตัดเงินเดิอนพนักงาน ต่อไปก็พิจารณากระแสเงินสด
หัวหน้าอนาคตใหม่เสนอว่า กระแสเงินสด ที่ต้องดูเป็นรายงานแบบรายวันเลยป้องกันเงินขาดมือ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีให้ทันเวลา ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของโชคชะตา
ขณะที่เวลาบริษัทจะล้มละลายนั้นมีล้มละลาย 2 ลักษณะคือ 1.การล้มละลายในงบดุลทางบัญชีหรือล้มละลายทางการเงินเมื่อส่วนของทุนในงบดุลเป็นติดลบต่ำกว่าศูนย์ กับ 2.การล้มละลายทางกระแสเงินสดที่ไม่มีจ่ายเจ้าหนี้ สุดท้ายมาฟ้องเป็นคดีในศาล
ดังนั้นในการแก้วิกฤติ 1.เราต้องเข้าใจในสถานะบริษัทตัวเองด้านยอดขาย-ยอดการเงินงบกำไร-ขาดทุน 2.การบริหารเงินสด เพราะหากล้มละลายทางเงินสดไม่มีจ่ายเจ้าหนี้จะล้มละลายจริง ดังนั้นตัวสำคัญที่สุดในวิกฤติคือเงินสด ที่เรียกว่า Cash is King เราต้องเก็บเงินสดไว้ในบริษัทให้มากที่สุด
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เกิดวิกฤติแล้วเราทำอะไรได้บ้าง 1.หากเรายังสู้ต่อยังไม่อยากปิดกิจการ ก็ยอมขายกิจการเพื่อให้เป็นเงินสดกลับมา แล้วเปลี่ยนมาเป็นเช่า-ซื้อใหม่ เหมือนเป็นการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นเงินสดลงทุน 2.หากยังมีสินค้าคงเหลือ ก็ขายไปนำเงินสดมา 3.กรณีที่มีลูกค้ายังไม่ชำระเงิน ก็เดินไปบอกลูกค้าขอเก็บเงิน อย่ากลัวที่จะเดินไปบอก หรือเดินไปเจรจากับคู่ค้า เช่น การรับสินค้าช้าหน่อยได้หรือไม่ ในการบริหารองค์กรธุรกิจ
ยามที่เกิดวิกฤตินั้นการบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องคิดที่จะเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เช่น ยอดขายลดลงจะทำอย่างไรได้บ้าง เช่น หากไม่ปลดพนักงาน ยังมีกิจกรรมที่ทำได้ คือ 1.การเสริมทักษะบุคลากร การปรับปรุงอุปกรณ์ที่ทำให้คนทำอะไรได้หลายอย่างมากขึ้น อาทิ พนักงานทำความสะอาดก็ให้มีอุปกรณ์ที่สามารถสร้างความสะดวกติดตัวไปได้ทุกที่เพิ่อลดระยะเวลา-ระยะทางในการจัดการ
2.การจัดการ Store หรือ Warehouse ให้พร้อมทำงานว่าอะไรอยู่ที่ไหน ปรับปรุงสถานที่ทำงานให้น่าใช้ น่าอยู่ ทั้งนี้เป็นการใช้โอกาสยอดขายตก นำเวลาไปปรับปรุงทักษะคนทำงาน-อุปกรณ์ทำงานที่จะลดต้นทุนด้านเวลาไม่ทำให้สูญเสียเวลากับการทำงานที่ไม่เพิ่มมูลค่า และยังทำให้คนนั้นทำงานอื่นได้มากขึ้น
“อย่าปล่อยให้เวลานี้หายไป เราต้องทำวิกฤติให้เป็นโอกาส เช่น ในโรงงานปกติต้องทำงานเกือบตลอดเวลา เราก็ต้องใช้เวลานี้ที่ได้กลับมาจากที่ออเดอร์ลด เราต้องไปปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักรไว้รองรับ เพราะเวลาปกติเราไม่มีโอกาสที่จะหาเวลาทำได้ ดังนั้นหลักสำคัญ คือการพัฒนาองค์กร”
นายธนาธร ระบุว่า ตนไม่เชื่อว่าความเป็นเลิศนั้นจะสิ้นสุดในจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ในการสร้างองค์กรให้ยั่งยืน เราต้องตอบตัวเองให้ได้ด้วย บริการ-สินค้าของเรา แตกต่างกับคนอื่นอย่างไร เราต้องสร้างความแตกต่างในการลงทุนระยะยาว และลดต้นสินค้า-บริการที่เราไม่แตกต่างจากเขา เช่นเราทำอะไรดีกว่าคนอื่น เก่งกว่าคนอื่น อย่าลดต้นทุนจุดแข็งของเรา เราไปลดส่วนทั่เราไม่แข็งพอก็ให้คนอื่นดำเนินการแทน เช่น ระบบโลจิสติกส์ (ระบบขนส่ง)
นอกจากนี้ นายธนาธร ยังยกตัวอย่างการใช้สื่อโซเชียลโดยเฉพาะเฟซบุ๊ค ในการเป็นช่องทางขายสินค้า โดยสร้างเอกลักษณ์ในการขาย เช่น แม่-ลูกนำรองเท้าแบรนด์เนมมือสองมาขาย ซึ่งแม่เป็นคนพูดเก่ง ส่วนลูกดูลักษณะรองเท้าเป็น หรือเคยมีเกษตรกรภาคเหนือปลูกแคนตาลูปในระบบปิด Green House ให้คนมาจองซื้อแคนตาลูปปลูกแบบออแกนิคผ่านเฟซบุ๊ค สร้างรายได้ต่อเดือนหลักหมื่นบาท-แสนบาท
หัวพรรคอนาคคใหม่ยังระบุถึงประเด็นแรงงานด้วยว่า มาเลเซียทำติดต่อ 40 ชม./สัปดาห์ แต่ในไทยทำงาน 48 ชม./สัปดาห์ ตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งหากเราสามารถลดเป็น 1 คนต่อ 40 ชม./สัปดาห์ จากที่ทำงาน แบบ 8 ชม./วัน , 6 วัน/สัปดาห์ เชื่อว่าจะทำให้สามารถจ้างงานได้อีก 1 คน และเพื่อให้ทำงานได้มีเวลาพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย
นายธนาธรได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า สิ่งที่ต้องทำ คือ 1 การสร้างงานใหม่ อดีตที่ไทยทำมา 60 ปี คือ การเปิดประเทศรับเงินทุนต่างชาติ แล้วยังไม่ปรับการพัฒนาสร้างโอกาสลงทุนธุรกิจขนาดกลาง มีแต่ให้ทุนขนาดใหญ่ ถ้าภาครัฐออกกฎหมายผลักดันให้มีอุตสาหกรรมใหม่เราจะสร้างงานอีกมหาศาล
ตัวอย่างเช่น เรามีกำลังผลิตเต็ม 100 แต่จริงใช้กำลังผลิตเพียง 65% ทั้งนี้จะรอดูวันที่ 18 พ.ย.นี้ว่าช่วงไตรมาส 3 ตัวเลขการลงทุนจะลดลงอีกหรือไม่ ซึ่งตนคิดว่าจะลดลง ดังนั้นเราต้องสร้าง Supply Chain ใหม่ ห่วงโซ่อุปทาน (ความต้องการซื้อ) เช่น การจัดหาเครื่องอบข้าวให้ชาวนาใหม่ แทนที่จะใช้แรงงานตากข้าวบนถนน แล้วความชื้น-อุณหภูมิก็ควบคุมไม่ได้ หรือโรงคัดแยก-แปรรูปผลไม้ เป็นอีกวิธีการสร้าง Supply Chain ให้เกษตรกร หรือระบบขนส่ง รถโดยสารประจำทาง สร้างอุตสาหกรรมสร้างรถไฟฟ้าได้หรือไม่ให้มีการจ้างงาน แทนที่จะไปซื้อรถจากประเทศจีนนับหมื่นล้านบาท
นายธนาธรยังยกตัวอย่างการสร้างอุตสาหกรรมระบบกำจัดขยะ ให้มีโรงงานกำจัดขยะคล้ายกับต่างประเทศตนคิดว่าเราจัดงบประมาณมาณดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาอุตสาหกรรมแม้จะสูงแสนล้านบาทตนก็คิดว่าคุ้มค่า แต่รัฐไม่จัดสรรงบในการพัฒนาส่วนนี้ หากตนทำได้มองว่าเราสามารถสร้างงานแถบจังหวัดอีสานได้
"ผมเชื่อว่าเราทำได้หากรัฐเปลี่ยนวิธีคิด แทนที่จะเน้นเพียงให้ต่างชาติมาลงทุนซึ่งเราก็ไม่ได้ภาษีจากเขาด้วย เราได้เพียงแค่ค่าแรง ไม่ใช่ว่าการลงทุนต่างชาติไม่สำคัญแต่เราต้องให้มีนโยบายรัฐในการต่อยอดสร้างเทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของเราเองด้วยไม่ใช่พึ่งพิงแต่กับต่างชาติ
วิธีที่ 2 ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล คือการจัดการทุนผูกขาด เห็นว่า ต้องสนับสนุนเปิดโอกาสให้ทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก เช่น เรื่องสุรา เปิดโอกาสชาวบ้านนำข้าวมาหมักเป็นสุราท้องถิ่น นำภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างคุณค่า
“หากมีโอกาสในไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ปีหน้า (ปี 2563) เราจะผลักดันกฎหมายในสภา เราไม่ใช่ว่ากลุ่มทุนใหญ่ไม่สำคัญแต่หน้าที่คือดึงกลุ่มทุนเล็ก-ขนาดกลางขึ้นไปด้วยเหมือนที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เคยพูดไว้ แต่จริง ๆ แล้วทุนใหญ่ของไทยไม่เป็นจริงอย่างนั้น ทั้งที่ทุนใหญ่ต้องไปเปิดตลาดโลกแล้วดึงมูลค่าเพิ่มกลับเข้ามาในไทย ไปเป็นหัวหอกแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดมา ไปลุยฐานผลิตเวทีโลกนำผลิตภัณฑ์ในไทยส่งออก”
ส่วนการแปรรูปสินค้าขนาดกลางก็ให้เป็นหน้าที่ของทุนขนาดกลาง แต่ทุนใหญ่ในไทยไม่ได้เล่นบทบาทที่ควรทำ กลับมาแย่งบทบาทุนขนาดกลาง-เล็ก และอาศัยข้อกฎหมาย ความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจสร้างกฎระเบียบ ที่เอาเปรียบผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่เล่นในบทบาทของทุนใหญ่ที่ควรจะเล่นในระบบทุนนิยม ดังนั้นจะต้องไม่ทำให้เกิดการร่ำรวย สะสมทุนจากการผูกขาดเบียดเบียนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะไม่เหมาะสม
นายธนาธรเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนบทบาททุนใหญ่พัฒนาระบบเทคโนโลยี เช่น สร้างเครื่องจักรขนาดใหญ่เพื่อสร้างการแปรรูปการผลิตให้เติบโตตลาดโลกแล้วกลับมาสร้างงานในประเทศ และขอฝากว่า การลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญ อยากเห็นการกระจายงบส่วนกลางกระจายสู่การลงทุนท้องถิ่นด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการจัดบรรยายครั้งนี้ ช่วงแรกเปิดให้ผู้มาร่วมรับฟังการบรรยายได้ทำแบบสอบถามออนไลน์ เกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ ในเชิงคำถามแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐ หรือคิดเห็นอย่างไรกับกระแสปลดพนักงานลักษณะให้ผู้ร่วมฟังการบรรยายพิมพ์ตอบทันทีในห้องบรรยาย ทั้งนี้ในการบรรยายดังกล่าว มีกลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดเล็ก-พนักงานบริษัท และผู้สนับสสนุนพรรคร่วมเข้าฟังด้วยนับ 100 คนตามที่มีการลงทะเบียน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-นายกฯ กล่อม 'สภาฯ' ผ่าน 'ร่างพ.ร.บ.งบฯ63' 3.2ล้านล้าน
-'7 ข้อควรรู้' งบประมาณ ปี 2563
-'ผู้นำฝ่ายค้าน' จี้ นำร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ทบทวนใหม่
-'ฝ่ายค้าน-รัฐบาล' อัด ร่างพ.ร.บ.งบฯ 63 ไม่ตอบโจทย์วิกฤตศก.