เปิดปากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นครั้งแรก
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดบริเวณปากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พร้อมให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นครั้งแรก
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในพิธีเปิด บริเวณปากถ้ำหลวง เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอย่างเป็นทางการครั้งแรก ร่วมด้วยพระครูภาวนานุวัตร (ชูวิทย์ อคฺควิชฺโช) เจ้าอาวาสวัดมงคลธรรมกายาราม จ.เชียงราย นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) นายกวี ประสมพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) เจ้าหน้าที่จังหวัดเชียงราย ประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เข้าร่วมงานด้วย ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 08.30 น. ณ อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า “หลังจากการปฎิบัติภารกิจช่วยเหลือเยาวชนและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี่ 13 คน เสร็จสิ้นลงตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 และเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก นั้น รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศึกษาแนวทางพร้อมทั้งดำเนินการยกระดับและพัฒนาวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้เป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการดำเนินการตามที่รัฐบาลให้คำแนะนำ พร้อมทั้งยกระดับพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ๒๕62 ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ได้ให้เกียรติเป็นประธานเปิดป้ายอุทยานแห่งชาติ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน พร้อมกับนายนพดล พลเสน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยมีประชาชนกว่า 500 คน เข้าร่วมงานใน ครั้งนั้นด้วย”
หลังจากพิธีการเปิดป้ายอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน นายวราวุธ ศิลปอาชา (รมว.ทส.) ได้ให้แนวทางการพัฒนาพื้นที่ว่า ต้องการให้ภาพรวมของพื้นที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ บอกเล่าเรื่องราวการกู้ภัย และให้ทำเส้นทางสำหรับคนพิการเพิ่มเติมสำหรับบริเวณขุนน้ำนางนอนด้วย ส่วนพื้นที่ด้านนอกให้คงความเป็นวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมไว้ ซึ่งนักท่องเที่ยวน่าจะสนใจรูปแบบการกู้ชีพกู้ภัย มากกว่าไปเน้นการก่อสร้างที่ทันสมัย
“สำหรับที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการปรับปรุง ซ่อมแซม สถานที่ต่าง ๆ ตามแนวทางแล้ว โดยเฉพาะการดำเนินการให้ระบบนิเวศที่เสียหายกลับคืนสู่สภาพเดิม เช่น การร่วมกับราษฎรจิตอาสา ทำการรื้อท่อที่ใช้ในการเบี่ยงเบนทางน้ำในลำห้วย ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณขุนน้ำนางนอน ถ้ำหลวง และเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่าง ๆ ที่พยายามทำขึ้นใหม่ ตั้งแต่ถ้ำพระ ถ้ำพญานาค ถ้ำเลียงผา เส้นทางศึกษาธรรมชาติดูปูดอกข้อแดง ก่อสร้างห้องน้ำใหม่ให้มีความสะอาดและเพียงพอ อนุสาวรีย์จ่าแซม ศาลาภาพเขียนของท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ จัดนิทรรศการในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวชั่วคราว ตลอดจนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตนเอง (นายจงคล้ายฯ) ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณี เข้าไปร่วมสำรวจ เพื่อตรวจดูอุปกรณ์ที่ใช้กู้ภัยต่าง ๆ ภายในถ้ำว่าอยู่ในสภาพใด เพื่อวางแผนในการจัดการต่อไป ซึ่งได้เดินจากบริเวณปากถ้ำถึงเนินนมสาว วัดระยะทางที่แท้จริงได้ ๒,๓๑๕ เมตร และต่อมา พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ พร้อมด้วยหน่วยซีล ได้เข้าไปเก็บถังอากาศ ๓๗๖ ใบ ออกจากถ้ำ ซึ่งอยู่ในสภาพที่ยังใช้งานได้ดีอยู่ สามารถนำไปใช้งานได้ต่อไป” นายจงคล้าย กล่าว
ขณะที่ในอนาคต การพัฒนาคงต้องทำอย่างระมัดระวังและรัดกุมให้มากที่สุด โดยจะมีนักวิชาการมาช่วยศึกษาความเป็นไปได้ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาจัดทำแผนแม่บท ผังแม่บท โดยจะศึกษาตั้งแต่ข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่ การดูแลคุ้มครองพื้นที่ การท่องเที่ยว เรื่องของธรณีวิทยา และที่สำคัญคือเหตุการณ์การกู้ภัยในครั้งนั้น ตลอดจนเรื่องราวจิตอาสาของคนไทยในครั้งนั้นด้วย นายจงคล้าย กล่าว
นายจงคล้าย ยังกล่าวอีกว่า “ทั้งนี้ ระหว่างรอแผนแม่บท กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็จะปรับปรุงพัฒนาด้านต่าง ๆ ไปอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางการจัดการอุทยานแห่งชาติ พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรธรณีและกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทำการสำรวจรายละเอียดภายในถ้ำหลวง สำหรับช่วงนี้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้สำรวจเส้นทางเดินในถ้ำทรายทอง บริเวณขุนน้ำนางนอน เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยดีมาโดยตลอด”
นายจงคล้าย กล่าวทิ้งท้ายว่า “สำหรับวันนี้ (1 พ.ย.62) กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มาทดลองเปิดบริเวณปากถ้ำหลวง เพื่อทดลองระบบการเข้า-ออก และการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพื่อใช้สำหรับการบริหารจัดการในอนาคต และต้องการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ ว่าขณะนี้อุทยานแห่งชาติ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ได้มีการเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสมในทุกด้าน เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านจากวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน และทั้งหมดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นและรูปแบบที่จะใช้พัฒนาพื้นที่แห่งนี้ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เต็มรูปแบบเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่ได้ให้ประชาชนเข้ามาศึกษาระบบนิเวศทางธรรมชาติ เรื่องราวการกู้ภัยในถ้ำครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนึงของโลก สร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่นและภาพรวมด้านการท่องเที่ยวของประเทศ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวไทยและชาวโลกต่อไปในอนาคต