เร่งผลักดัน'เอ็นดีทีพี'เชื่อมการค้า-ลงทุนอาเซียน

เร่งผลักดัน'เอ็นดีทีพี'เชื่อมการค้า-ลงทุนอาเซียน

เร่งผลักดัน'เอ็นดีทีพี'เชื่อมการค้า-ลงทุนอาเซียน ด้านกกร.ระบุโครงการเอ็นดีทีพี มีความคืบหน้าอย่างมากและโครงการนี้จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำการค้าระหว่างกันในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนให้เป็นการทำการค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจของประเทศ (National Digital Trade Platform)หรือ “เอ็นดีทีพี”เป็นสิ่งที่ไทยและชาติสมาชิกอาเซียนกำลังเร่งผลักดันให้เกิดการบริการแบบครบวงจรอย่างแท้จริง ทั้งเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอ็มเอสเอ็มอีในมิติด้านการเงิน และเพื่อเพิ่มความสะดวกและลดต้นทุนด้านการใช้บริการทางการเงิน

ก่อนเปิดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 และการประชุมผู้นำที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการวานนี้ (3 พ.ย.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน ASEAN Businesses and Investment Summit 2019 (ABIS) ของภาคเอกชน ซึ่งจัดขึ้นวันที่สองเป็นกิจกรรมคู่ขนาน

จุรินทร์ กล่าวถึงแนวคิดการเพิ่มขีดความสามารถอาเซียน 4.0 “Empowering ASEAN 4.0” ซึ่งเป็นหัวข้อที่ภาคเอกชน โดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนกำหนดขึ้นด้วยการกล่าวชื่นชมภาคเอกชน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประชาคมอาเซียนไปสู่ยุค 4.0 หรือยุคดิจิทัล ซึ่งนับว่าเป็นวาระที่สำคัญและเหมาะสมกับช่วงเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในปัจจุบัน ไม่สามารถรปฏิเสธได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว ที่ส่งผลให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสามารถทำได้ในทุกที่และทุกเวลาและทำให้การติดต่อสื่อสารสามารถทำได้อย่างไร้ขัดจำกัดเทคโนโลยีเอไอ และหุ่นยนต์ที่ก้าวเข้ามาทดแทนแรงงาน

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้า การบริการ การบริโภค และการผลิตก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ แต่ในทางกลับกันเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ก็ส่งผลให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทันต้องทยอยปิดตัวลงในทุกภูมิภาคของโลก

“ หากมองกลับมายังภูมิภาคอาเซียน จะเห็นว่าตอนนี้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่แล้วมีมูลค่าสูงถึง 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์ มีปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต คือ การขยายตัวของชนชั้นกลาง การเพิ่มขึ้นของประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งการปรับตัวของเอสเอ็มอีในภูมิภาคที่หันมาใช้ดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น” จุรินทร์ กล่าว

จุรินทร์ กล่าวด้วยว่า เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน มีสัดส่วนถึง35% 27% และ 16%ของจีดีพีตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัล ในอาเซียนยังมีโอกาสเจริญเติบโตอีกมาก

ส่วนผลการศึกษาจาก3บริษัทชั้นนำของโลก อย่างกูเกิล เทมาเส็ก และเบน แอนด์ โค ระบุว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า หรือในปี 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 3 เท่าตัว โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์

จุรินทร์ กล่าวด้วยว่า อาเซียน ตระหนักถึงบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นของเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจต่อประเทศสมาชิก จึงได้มีการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ไปสู่เศรษฐกิจที่เช่าของอาเซียน เช่น 1. การจัดทำข้อตกลงด้านอีคอมเมิร์ซเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน 2. การจัดทำกรอบบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซี่ยน เพื่อเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า การคุ้มครองข้อมูลการพัฒนาระบบชำระเงินการพนาทักษะของบุคลากรและการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาธุรกิจ

3. การจัดทำแนวทางพัฒนาแรงงานมีทักษะและผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อการรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่4 (4IR) ซึ่งภาคเอกชน โดยสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนมีบทบาทในการผลักดันการทำแนวทางดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมแรงงานรองรับอาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตผ่านการนำทักษะที่คุณมีอยู่เดิม มาปรับปรุงและพัฒนาให้เหมือนใหม่ (Reskilling) และ การยกระดับทักษะด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Upskilling)

จุรินทร์ ย้ำว่า “ความร่วมมืออย่างแข็งแกร่งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้ ABIS จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออนาคตของอาเซียน ผมเชื่อมั่นว่าภายใต้ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดความเข้มแข็งระหว่างรัฐกับเอกชนจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์และพร้อมรองรับความท้าทายจากการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเข้มแข็งและยังยืนต่อไป”

ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับการผลักดันเรื่องนี้ของภาคเอกชน ล่าสุด กลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ประกาศความสำเร็จในการร่วมกันทดลองใช้แพลทฟอร์มการค้าที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ของบริษัทเอ็นทีที ดาต้า ซึ่งเป็นผู้นำด้านการบริการไอทีของญี่ปุ่นภายใต้โครงการเอ็นดีทีพี

กลินท์ ระบุว่า โครงการเอ็นดีทีพี มีความคืบหน้าอย่างมากและโครงการนี้จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำการค้าระหว่างกันในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนให้เป็นการทำการค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในมิติของการบริหารต้นทุนธุรกิจและลดเวลาในการทำธุรกรรมทางการค้าโดยใช้รูปแบบดิจิทัลทั้งหมด ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เอสเอ็มอีมีศักยภาพมากขึ้นในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่สำคัญทำให้การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นเรื่องง่าย สะดวกและรวดเร็วขึ้นมาก