กมธ.วุฒิฯ ซักกสทช. '5จี' ใช้ด้านใดแล้วคุ้มค่าที่สุด
กมธ. ไอซีที วุฒิสภา ซักถามกสทช. ถึงความคืบหน้าการประมูล 5จี แนะให้คำนึงถึงการนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้เป็นรูปธรรม เน้นย้ำว่าต้องโปร่งใสในเรื่องการประมูลและรองรับสังคมไทย ด้านกสทช.คาดการณ์ภายใน 1 ปีคนไทยจะเข้าถึงเน็ตประชารัฐเกือบครบทุกพื้นที่ของประเทศ
พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและการโทรคมนาคมวุฒิสภา รวมทั้งที่ปรึกษา และนักวิชาการประจำคณะฯ ได้เข้ารับฟังการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทางด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โทรคมนาคม ตั้งแต่เรื่องนโยบายแผนการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการเน็ตประชารัฐในที่ที่ไม่มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ (Non-Commercial Area) ฯลฯ ทางด้านกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์นั้น ได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับโทรทัศน์ดิจิตัล ในส่วนทางด้านกฎหมายนั้น ได้กล่าวถึงการดำเนินการพระราชบัญญัติว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม,โทรศัพท์ฉุกเฉินหมายเลขเดียว รวมไปถึงกระบวนการสรรหาและคัดเลือกกรรมการกสทช.และเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHZ เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G ที่อยู่ในกระแสสังคมปัจจุบัน
นอกการเข้ารับฟังการดำเนินงานของกสทช.ในภาพรวมแล้ว ยังมีการซักถามถึงประเด็นเกี่ยวกับการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการสื่อสารของประชาชนในแต่ภาคส่วนที่ทางกมธ.ICT มีความกังวล เป็นต้นว่า กรณีของการนำ 5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ในเรื่องของการแพทย์ ภาคการเกษตร ภาคโลจิสติกส์ ภาคการผลิต รวมไปถึงเรื่องของเน็ทประชารัฐ
ทาง กสทช. รายงานผลดำเนินการในเรื่องของ 5G เอาไว้ว่า “ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G นั้นจะนำมาใช้เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านสุขภาพ smart hospital ว่าด้วยการรักษาโรคทางไกล ในระบบ Telehealth ในอนาคตหากโครงข่ายสำเร็จก็จะช่วยคนที่เจ็บป่วยเป็นโรคผิวหนัง โรคเบาหวาน โรคความดัน และโรคตา เป็นต้น รวมถึงด้านระบบรักษาความปลอดภัย ด้านการขนส่ง ด้านสมาร์ท ฟาร์มที่จะสามารถควบคุมเชื่อมโยงทกุอย่างด้วยเทคโนโลยีด้วยเทคโนลียี 5G”
ส่วนกระแสสังคมในกรณีเรื่อง “เน็ตประชารัฐ” นั้น ทางกสทช.ได้ชี้แจ้งให้เห็นถึงการคาบเกี่ยวในการทำงานที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กับกสทช.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อความชัดเจนในการทำงานจึงได้มีการกำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบของทั้งสองหน่วยงานเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหากมีการร้องเรียนในเรื่องในเรื่องการใช้งานของกรณี “เน็ตประชารัฐ”
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.อธิบายว่า “เดิมประเทศไทยมีพื้นที่ 74,987 หมู่บ้าน หากตัดพื้นที่เชิงพาณิชย์ออก จะเหลือพื้นที่ที่ต้องการในการให้บริการอินเตอร์เน็ตฟรีอยู่ที่ 44,352 หมู่บ้าน ทั้งนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวง DE จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ฉะนั้นพื้นที่ที่เหลือจะเป็นความรับผิดชอบของกสทช.คือพื้นที่ห่างไกล โครงการเน็ตชนบท จำนวน 15,732 หมู่บ้าน ซึ่งได้มีการลงนามในสัญญามาตั้งแต่ มกราคม 2562 และจะส่งมอบงาน 26 พฤศจิกายน 2562 นี้ ขณะที่สัญญาที่ 2 จะมีการส่งมอบงานในวันที่ 9 มกราคม 2563 ส่วนโครงการเน็ตทุรกันดารพื้นที่ชายขอบ จำนวน 3,920หมู่บ้านให้บริการ ในระยะเวลา 5ปี (2563-2567) ยังเหลือ 2,902 จุด ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จแต่ก็เป็นไปตามสัญญา
ส่วนปัญหาติดๆขัดๆ ของโครงการเน็ตประชารัฐตามโครงการชิมช้อปใช้ ขณะนี้ยังเป็นการร่วมกัน ระหว่างภาคเอกชน กระทรวง DE และ กสทช. ในส่วนของ กสทช.รับผิดชอบพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ USO net แยกจากโครงการเน็ตประชารัฐของกระทรวง DE หากพี่น้องประชาชนมีปัญหาในส่วนนี้ขอให้แจ้งมาที่ กสทช.โดยตรงจะได้แก้ปัญหาให้ตรงจุด” นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าว
ขณะที่แนวคิดของพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและการโทรคมนาคมวุฒิสภา ได้เน้นย้ำในเรื่องการนำในเรื่องการนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมมาใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ “ประเทศเราจะพัฒนาไม่จําเป็นต้องเอาประเทศอื่นมาเปรียบเทียบแบบบัญญัติไตรยางค์ เพราะโครงสร้างพื้นฐานในแต่ ละเรื่องไม่เหมือนกัน เราอาจจะเอาสิ่งดีๆมาประยุกต์ใช้ในบ้านเรา แต่ไม่จําเป็นต้องนำมาใช้ทุกอย่างทันทีตามกระแส เพราะเราก็มีแผนในการพัฒนาประเทศตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วนของเรา ขณะเดียวกันในการพัฒนาต่างๆ ก็ต้องวางแผนรับมือกับผลกระทบอื่นหรือปัญหาที่อาจจะเกิดกับสังคมไทยในด้านที่ไม่ดีด้วย เช่นกัน”