แผนการค้าจีน กับเส้นทางสายไหม 'ใหม่' ของอาเซียน
จากอดีตเส้นทางการค้าจีนมุ่งตรงไปทางตะวันตก สร้างมูลค่าและเกิดการกระจายตัวของศิลปวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง จนมีการขนานนามว่าเส้นทางสายไหม แต่ในศตวรรษที่ 21 จีนเปิดการค้ามากขึ้น หวังเชื่อมนานาประเทศเพื่อเชื่อมต่อและเกาะเกี่ยวเป็น "เส้นทางสายไหมใหม่"
เส้นทางสายไหม (Silk Road) คือ เส้นทางการค้าขายแต่โบราณที่ผู้คนจากใจกลางแผ่นดินจีนนำสินค้าไปค้าทางตะวันตก สินค้าจะถูกขายต่อเป็นทอดๆ ไปพร้อมกับขบวนคาราวาน จากเมืองหนึ่งกระทั่งไปถึงกรุงโรม เช่นกันสินค้าทางตะวันตกถูกนำเข้าสู่เมืองจีนก็ด้วยเส้นทางสายไหมเช่นเดียวกัน ศิลปวัฒนธรรมก็ถูกถ่ายทอดส่งต่อมาทั้งสองฝากอารยธรรม จนเกิดการผสมผสานพัฒนาให้อารยธรรมใหญ่ของโลกทั้งสองฟากอารยธรรม ชื่อเป็นเพียงนามสมมุติที่นักเขียนชาวเยอรมันเป็นผู้บัญญัติขึ้น
วันนี้ เราจะมาพูดถึงเส้นทางสายไหมสำหรับศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพใหญ่ และเรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนอยู่ไม่น้อย
เครือข่ายเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งทั้งทางบกและทางทะเล เป็นนโยบายที่เด่นชัดมากที่สุดที่ผู้นำจีนนำเสนอต่อชาวโลก โดยจีนต้องการให้มีความร่วมมือ และผลักดันให้เกิดเครือข่าย เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก เส้นทางการเชื่อมโยงทางการค้าใหม่ของโลกที่จีนนำเสนอ ให้แก่ประชาคมโลกนี้ ถูกขนานนามว่า "หนึ่งเส้นทางเชื่อมต่อ และเกาะเกี่ยว" หรือเส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งเป็นแนวความคิดของผู้นาจีนที่มีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2013
กล่าวกันว่าเป็นข้อเสนอความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ที่มุ่งส่งเสริมด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและเรื่องอื่นๆ ระหว่างบรรดาประเทศทั้งหลาย ส่วนการได้รับประโยชน์จากเส้นทางที่ว่านี้คงมีประเทศจีนเป็นหลัก ส่วนประเทศอื่นๆ นั้นคงได้รับอานิสงส์กันไปด้วย แต่จะถ้วนหน้าหรือไม่คงเป็นเรื่องที่จะลองวิเคราะห์ในวันนี้
เส้นทางสายไหมใหม่ประกอบไปด้วย เส้นทางขนส่งทางบกอันได้แก่ ถนน ทางรถไฟ เป็นหลัก และเส้นทางขนส่งทางน้ำ อันประกอบไปด้วยบรรดาท่าเรือในประเทศต่างๆ
คราวนี้ถ้าจะให้เป็นจริงขึ้นมาได้ ประเทศจีนคงต้องมีข้อเสนอให้กับประเทศต่างๆ ที่จีนปรารถนาจะให้รับผิดชอบต่อการเกิดของเส้นทางสายไหมใหม่นี้ ข้อเสนอที่ถูกใจมากที่สุดคงจะเป็นเรื่องเงินลงทุนในบรรดาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อการคมนาคมและเรื่องอื่นๆ อีกจิปาถะ
นัยว่าในแต่ละเรื่องนั้นต้องอาศัยการลงทุนเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจีนก็มีกระบวนการที่จะเสนอให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าความช่วยเหลือเหล่านั้นต้องมีเงื่อนไขอยู่มากบ้างน้อยบ้างตามความเหมาะสม
ความเหมาะสมที่ผู้เขียนอยากตั้งข้อสังเกตคือ จีนต้องการความสำเร็จของเส้นทางสายไหมใหม่ เพราะถ้าการเชื่อมต่อของเส้นทางนั้นเกิดติดขัด โดยที่ประเทศใดประเทศหนึ่งในแผนที่เส้นทางไม่ยินยอมพร้อมใจด้วย ก็จะเกิดปัญหาเส้นทางขาด และที่จะเรียกว่าเป็นเส้นเข็มขัดคงเป็นไปไม่ได้เพราะคาดไม่อยู่
ปัญหาใหญ่ในเรื่องนี้คือการกำหนดแนวเส้นทาง เพราะคงไม่ใช่จีนที่จะเลือกเส้นทางแต่ฝ่ายเดียว บรรดาประเทศต่างๆ ก็ต้องการเลือกเส้นทางด้วย ส่วนจีนเองก็ต้องทำแข็งขันว่าถ้าไม่ใช่อย่างที่จีนเสนอแนวเส้นทางไว้ จะได้การช่วยเหลือจากจีนนั้นคงลำบาก
คราวนี้ลองมาตั้งข้อสังเกตเรื่องเส้นทางสายไหมใหม่ที่จะต้องอาศัยดินแดนของสมาชิกประชาคมอาเซียนกันบ้าง เรื่องทางรถไฟนั้นมีการพูดกันมากแล้ว ลองมาดูเรื่องทางน้ำกันบ้างดีกว่า
ท่าเรือที่ทางจีนกำหนดไว้ในเส้นทางการเรือสายไหมที่ผ่านเข้ามาในย่านอาเซียนนั้น นัยว่าใช้เส้นทางเดินเรือที่แม่ทัพเรือ เจิ้งเหอ ผู้ยิ่งใหญ่ของจีนเคยใช้ เพื่อนำกองเรือจีนไปตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งครั้งอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ก็เชื่อว่าท่านแม่ทัพเคยเดินเรือมาถึงแดนสยามด้วย แต่เส้นทางสายไหมใหม่นั้นคงไม่เหมือนเดิม
เพราะจากจีนอาจเข้าเมืองท่าไฮฟองของเวียดนาม แล้วน่าจะตัดตรงลงมาที่ท่าเรือน้ำลึกของช่องแคบมะละกา ซึ่งมาเลเซียน่าจะยินดีกับเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย เมื่อผ่านช่องแคบมะละกามาได้แล้ว ที่จะได้ยินดีกับเส้นทางเดินเรือของจีน ได้ข่าวว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึกของเมียนมา ชื่อท่าเรือน้ำลึกจ๊อกพยิว ที่อยู่ไกลไปจากท่าเรือน้ำลึกทวายที่เรากล่าวขวัญถึงกันบ่อยๆ แต่ท่าเรือน้ำลึกจ๊อกพยิวนั้นสำคัญสำหรับจีนมากกว่า
ดังนั้นเรื่องของทวายอาจเป็นประโยชน์กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอื่นที่ไม่ใช่จีน ส่วนที่ไม่ใช่มหาอำนาจ เช่น ประชาคมอาเซียนนั้น ควรจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาทวายมากกว่า
อุทาหรณ์ในเรื่องนี้ก็คือ ข้อต่อรองของสมาชิกอาเซียนกับจีนนั้น ยังคงเป็นเรื่องเฉพาะประเทศที่เรียกกันว่าทวิภาคี ซึ่งสมาชิกประชาคมแต่ละประเทศจะตกลงต่อรองกับจีนโดยตรง มากกว่าที่จะปรึกษากันเป็นประชาคมเพื่อรักษาประโยชน์ซึ่งกันและกัน