ลีลาการทูต“ประยุทธ์”-“หลี่ เค่อฉียง”ย้ำสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นแฟ้น
ลีลาการทูต“ประยุทธ์”-“หลี่ เค่อฉียง”ตอกย้ำสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นแฟ้น สองประเทศร่วมเดินหน้าสนับสนุนความร่วมมือการค้า-การลงทุน
มีคำกล่าวว่า จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน น่าจะใช้ได้ดีกับบรรยากาศการหารือแบบเต็มคณะระหว่างพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมของไทยและหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัย บรรยากาศชื่นมื่น เต็มไปด้วยคำอุปมา-อุปมัย ไปดูกันว่าการแสดงชั้นเชิงทางการทูตระหว่างผู้นำไทยและจีนเป็นอย่างไร
วานนี้(5พ.ย.)ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้หารือเต็มคณะกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
โดยมีคณะรัฐมนตรีโดยฝ่ายไทยประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์
ขณะที่คณะรัฐมนตรีฝ่ายจีน ประกอบด้วย นายเซียว เจี๋ย มนตรีแห่งรัฐและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นายหลิว คุน รมว.คลัง นายจาง หย่ง รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ นายเล่อ ยู่เฉิง รมช.ต่างประเทศ นายหลี่ว เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนายหยู เจี้ยนหัว รมช.พาณิชย์และรองผู้แทนการค้าระหว่างประเทศ
หลังเสร็จสิ้นการหารือข้อราชการเต็มคณะ ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 3 ฉบับ จากนั้นผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันแถลงข่าว ที่ตึกสันติไมตรีหลังใน โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ในการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ถือเป็นการเยือนที่เกิดขึ้นในปีที่มีความสำคัญ เป็นปีที่ไทยได้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงเป็นประธานอาเซียน ขณะที่จีนก็เฉลิมฉลองการครบรอบ 70 ปีแห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในสภาวะความผันแปรของสภาวะเศรษฐกิจโลก ตนและนายกรัฐมนตรีหลี่ฯ ได้หารือกันอย่างกว้างขวางทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนสถานการณ์ในภูมิภาคและในโลก และเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะระหว่างยุทธศาสตร์และกรอบความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2568 (MPAC 2025) และ ACMECS เป็นต้น กับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีน ซึ่งก็คล้องกับยุทธศาสตร์ “Connecting the Connectivities” ที่ไทยเสนอ
ไทยและจีน ยังเห็นพ้องที่จะเชื่อมระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)ของไทยกับกรอบความร่วมมือเขตอ่าวกวางตุ้ง –มาเก๊า – ฮ่องกง(จีบีเอ)ของจีนผ่านโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกลไกหารือระดับสูงระหว่างกันเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้
พล.อ.ประยุทธ์ ได้เชิญชวนให้จีนขยายการลงทุนในไทย พร้อมทั้งฝากให้นายกรัฐมนตรีหลี่ฯ ช่วยดูแลภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในจีน และดูแลเรื่องสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพารา พร้อมทั้งกล่าวย้ำถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยว่า จะปรับปรุงมาตรฐานการให้ความคุ้มครองและดูแลนักท่องเที่ยว
ขณะที่นายกรัฐมนตรีหลี่ฯ แสดงความพร้อมที่จะถ่ายทอดแนวปฏิบัติที่ดีของจีนในเรื่องการขจัดความยากจนให้ไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะ เพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการแก้ไขปัญหา หมอกควัน หรือ PM 2.5
ด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันให้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และจะสนับสนุนการดำเนินความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีหลี่ฯ และการลงนามความตกลงต่าง ๆ ของทั้งสองฝ่าย สะท้อนถึงพัฒนาการของความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย - จีน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศ ประชาชนและภูมิภาคโดยรวม
ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฝากสุภาษิตไทยให้กับนายหลี่ฯ โดยกล่าวว่า “มดน้อยบางครั้งก็สามารถช่วยพญาราชสีห์และพญาคชสารได้ นี่คือสุภาษิตไทยที่ขอฝากไว้ และอยากฟังสุภาษิตจีนบ้าง“ ซึ่งนายหลี่ฯ ตอบกลับว่า ”จีนกับไทยนั่งเรือลำเดียวกัน ทั้งจีนและไทยมีความเหมือนกัน ถ้าดูจากประชากรและสภาพทางการเมือง การต่างประเทศ ก็ตรงกัน ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ เราจึงต้องมุ่งไปข้างหน้าเพื่อให้มีอนาคตที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้น ต้องอาศัยหลักการความเสมอภาคต่อกัน เอื้อประโยชน์ต่อกัน เป็นหุ้นส่วนที่ดี และมีความเจริญก้าวหน้าด้วยกัน แม่น้ำเจ้าพระยาก็สามารถเชื่อมต่อไปถึงประเทศจีนได้ ซึ่งทั้งสองประเทศก็จะเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน"
นอกจากนี้ นายหลี่ ยังแสดงความยินดีกับไทยอีกครั้งที่ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 พร้อมทั้งกล่าวว่า จีนพร้อมผลักดันไทยทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการอีอีซี รวมถึงส่งเสริมเสริมความร่วมมือด้านการค้าข้าว อีคอมเมิร์ซ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งจีนมีศักยภาพในการส่งเสริมการพัฒนาของไทยเป็นอย่างมาก โดยช่วงที่มาเยือนไทย ได้เห็นเรือพาณิชย์วิ่งในแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก ทำให้คิดว่าหากทางการไทย-จีน ร่วมมือกัน จะเปรียบเสมือนเป็นเรือใหญ่ วิ่งเร็ว วิ่งไกลอย่างมั่นคง ซึ่งในอนาคตจะต้องวิ่งให้เร็วเหมือนเรือหางยาวด้วย