Green Pulse l สภาลมหายใจเชียงใหม่ สู่ลมหายใจสะอาด
ไม่บ่อยครั้งนักที่ผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจะสามารถลุกขึ้นมาช่วยแก้ไขปัญหาที่อยู่ห่างไกลออกไป
แต่เมื่อมาถึงปัญหาหมอกควันข้ามพื้นที่ ภาคประชาสังคมจังหวัดเชียงใหม่ที่มีเครือข่ายองค์กรที่เข้มแข็ง ได้ลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อหาทางออกให้กับคนในภาคเกษตรต่างอำเภอที่ถูกเพ่งเล็งว่า เป็นผู้ก่อปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ อันเนื่องมาจากวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับการทำเกษตรและการเผาในที่โล่งนั่นเอง
บัณรส บัวคลี่ หนึ่งในแกนนำผู้ก่อตั้ง สภาลมหายใจเชียงใหม่ ที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 เดือน 9 หรือเดือนสิงหาคม 2562 และเริ่มมีกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อขยายผลการทำงานแก้ปัญหาของเครือข่ายนับตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป เล่าถึงที่มาของการจัดตั้ง สภาลมหายใจเชียงใหม่ ว่า เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ ที่เคยทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ในจังหวัด โดยเมื่อเกิดวิกฤติในต้นปีที่ผ่านมา จึงเห็นกลุ่มองค์กรต่างๆปรากฎตัวชัดเจนขึ้น นำมาสู่การแลกเปลี่ยนบนฐานคิดที่ว่า เมื่อปัญหาผ่านไป คนก็มักจะลืม จึงเริ่มมีการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ และจัดเวที “เชียงใหม่จะไม่ทน” เพื่อผลักดันกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาวขึ้น ก่อนที่จะมีการปรับกิจกรรมมาเป็น “เมืองสู้ฝุ่น” ที่นำไปสู่ภาคปฏิบัติ คือเป้าหมายการปลูกต้นไม้ให้ได้ 10 ล้านต้น
“จากวิกฤติที่เกิดขึ้นในปีนี้ เราก็จะเห็นกลุ่มต่างๆ ปรากฎขึ้น รวมทั้งเครือข่ายเดิมที่เคยต่อสู้เรื่องป่าแหว่ง จากสองเวทีแรก ความคิดและกลุ่มองค์กรก็ขยายตัวขึ้น ไม่ได้มีแค่ ngo ละ มีทั้งหมอ นักวิชาการ ภาคธุรกิจ เข้ามาช่วยกันเพื่อแก้ปัญหา” บัณรสกล่าว
“ปัญหาหมอกควัน มันไม่ใช่แค่หมอกควัน แต่คือปัญหา “มลพิษ” ที่ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาระยะยาวไปที่สาเหตุ ที่สำคัญ เราเห็นว่า มันเป็นปัญหา conflicts of interest ระหว่างคนเมือง การท่องเที่ยว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเกษตรที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับการเผา ประเด็นก็คือ การแก้ปัญหาของรัฐก็ยังเน้นไปที่เหตุการณ์เฉพาะหน้าระยะ 3 เดือน เราก็เลยมานั่งคุยกันว่าควรจะมีการสังคยนาแนวทางแก้ปัญหากันใหม่”
จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISDA), เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจังหวัดอันดับต้นๆ ของ 9 จังหวัดภาคเหนือที่พบจุดความร้อนในช่วงวิกฤติตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมมากที่สุด โดยเมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของปัญหาในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วนของประเทศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยจุดความร้อนที่พบมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดย ในปี 2560 พบจุดความร้อน รวม 16,006 จุด ในขณะที่ปี 2561 พบจุดความร้อน 14,565 จุด และในปี 2562 จุดความร้อนพุ่งขึ้นสูงถึง 29,251 จุด โดยใน 9 จังหวัดภาคเหนือ พบจุดความร้อนในปี 2562 เพียงปีเดียวถึง 9,859 จุด โดยจังหวัดเชียงใหม่ พบจุดความร้อน 1,723 จุด เป็นที่สอง รองจากจังหวัดเชียงราย ที่พบจุดความร้อน 1,951 จุด
นอกจากปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาในประเทศแล้ว หมอกควันดังกล่าวยังเกิดจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมียนมาร์และลาว พบจุดความร้อนในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ถึง 57, 533 และ 48, 120 จุด ตามลำดับ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ
กรีนพีซ ประเทศไทย (Greeenpeace Thailand) ยังพบความสัมพันธ์ของจุดความร้อนที่เพิ่มขึ้นผ่านการวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) ที่ติดตั้งบนดาวเทียม Terra and Aqua ของนาซาในปี 2562 โดยพบว่า การเพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,646,620 ไร่ ในภาคเหนือของประเทศไทย และ 7,524,550 ไร่ในรัฐฉานของเมียนมา
กรีนพีซ พบว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่รัฐฉานของเมียนมาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลา 6 เดือน โดยพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดที่น้อยที่สุดในเดือนธันวาคม 2561 มีพื้นที่ 4,006.60 ตารางกิโลเมตร ส่วนเดือนพฤษภาคม 2562 การเพาะปลูกข้าวโพดกินพื้นที่กว่า 12,069.33 ตร.กม. ในขณะที่ในภาคเหนือของประเทศไทย พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดครอบคลุมมากที่สุด 5,836.81 ตารางกิโลเมตรในเดือนเมษายน 2562 โดยที่พื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่สามารถระบุได้เลยว่าใครเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เกิดไฟป่าและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศจากหมอกควัน
ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึง พฤษภาคม 2562 เดียวกัน กรีนพีซพบว่ามีจุดความร้อน 6,879 จุด ภายในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในภาคเหนือตอนบนของไทย และ 14,828 จุด ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในรัฐฉานของเมียนมา
สภาลมหายใจเชียงใหม่เอง ซึ่งได้รับทราบสาเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน จึงมุ่งออกแบบกิจกรรมเน้นไปที่การแก้ไขที่สาเหตุ และหนึ่งในเป้าหมายใหญ่ของกิจกรรมของสภาฯ คือการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของคนในภาคเกษตรที่อยู่รอบๆ
โดยความช่วยเหลือของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)และสภาองค์กรชุมชน สภาฯ เริ่มออกแบบโครงการ ดิน น้ำ ป่า อากาศยั่งยืน ที่มุ่งช่วยเหลือเกษตรกรใน 25 อำเภอ ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตที่พึ่งพาการเผา ผ่านโครงการนำร่องในแต่ละตำบลของอำเภอทั้งหมด 32 ตำบล โดยใช้โมเดลจากอำเภอแม่แจ่มที่เคยดำเนินการโดย กกร.
จากโมเดลแม่แจ่มที่ ไพรัช โตวิวัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการแก้ปัญหาฝุ่นควัน ของ กกร.ดำเนินการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยทดลองปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ โดยมีชาวบ้านกว่า 200 คน เข้าร่วม เกิดเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมสานการปลูกพืชที่เน้นความยั่งยืนทางอาหารให้กับเกษตรกร และการส่งเสริมรายได้แบบยั่งยืนผ่านการปลูกไม้ผลต่างๆ ที่สามารถเลือกได้ถึงกว่า40-50 ชนิด รวมทั้งกาแฟ
ที่สำคัญคือ การแก้ปัญหาหนี้สินร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ที่ไพรัชได้รับการบอกกล่าวว่าชาวบ้านในแม่แจ่มมีหนี้สินถึงกว่า 700,000 แสนต่อครัวเรือนในขณะที่มีค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูงถึง 70,000 บาทต่อปี และการช่วยเหลือทางด้านตลาดที่ภาคธุรกิจมีความชำนาญ
“จากการดำเนินการ เราได้โมเดลที่ทำให้เห็นองค์ประกอบ 3 อย่างที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาในส่วนนี้เกิดความสำเร็จ คือ การสร้างชุดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร เพราะเค้ารู้แต่การปลูกข้าวโพด การจัดการผลผลิตหรือการทำตลาด และเรื่องของทุนที่ต้องจัดการ ซึ่งเราก็ถือว่าเป็นความสำเร็จในเชิงนโยบายที่อยากเอามาขยายผลต่อ” ไพรัชกล่าว
บัณรสกล่าวว่า ปัญหาเรื่องหมอกควันเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะในช่วงที่วิกฤติผ่านไป และต้องยกระดับความคิดจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปสู่การแก้ปัญหาระยะยาว
เขากล่าวว่า แม้ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล แต่คนเมืองและภาคธุรกิจสามารถมีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้จากองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่มี โดยเฉพาะการจัดการผลผลิตและความต้องการในตลาด
ในวันอาทิตย์นี้ พวกเขาเตรียมรวมกลุ่มกันเพื่อช่วยกันคิดเรื่องการสร้างแบรนด์ให้สินค้าของภาคเกษตรที่กำลังจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยนวิถีใน32 ตำบลเป้าหมาย
“story” คือสิ่งที่บัณรสคาดหวังนอกเหนือจากการสร้างแบรนด์ที่ติดตา เพราะเขาเชื่อว่ามันจะนำไปสู่การเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงที่จะนำทุกคนไปสู่ความเข้าใจและสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนร่วมกัน
“เราหวังว่าแต่ละแบรนด์จะมีเรื่องเล่าของมัน ทำให้เกิด motivation สู่การเปลี่ยนแปลง” บัณรสกล่าว