'คมนาคม' 4 เดือน รื้อใหญ่ 'ศักดิ์สยาม' สั่งเปลี่ยนนโยบาย
'ศักดิ์สยาม' สั่งเปลี่ยนนโยบายกระทรวง-รถตู้ แผนซื้อฝูงบิน เขย่าบอร์ด รสก. จ่อเคาะลงทุนทางด่วน 2 ชั้น เร่งสรุปต่อสัมปทาน 30 ปี
"คมนาคม" ภายใต้การคุม "ศักดิ์สยาม" แค่ 4 เดือน สั่งรื้อยกใหญ่ ทั้งนโยบายรถตู้ ไม่บังคับเปลี่ยนเป็นมินิบัส เร่งเคลียร์ 2 ค่าโง่ มั่นใจได้ข้อสรุปต่อสัมปทานทางด่วน 30 ปี จ่อสรุปเงื่อนไขโครงการทางด่วน 2 ชั้น ขีดเส้น 6 เดือนทบทวนแผนซื้อฝูงบิน 1.5 แสนล้าน พร้อมเขย่าบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ลุ้นประธานการบินไทยคนใหม่
การดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีการผลักดันนโยบายใหม่และมีการเปลี่ยนแปลงหลายนโยบาย นับจากนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยทันทีที่เข้ารับตำแหน่งได้ประกาศนโยบายสำคัญ คือ การบริหารงานภายใต้รัฐบาลปัจจุบันจะต้องไม่มีค่าโง่ และนายศักดิ์สยามกำกับดูแล 13 หน่วยงานหลัก ด้านระบบราง ทางบกและทางอากาศ ในขณะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอีก 2 คน กำกับดูแล 9 หน่วยงาน
นายศักดิ์สยาม ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคมเพื่อผลักดันตามแผนงาน รวมถึงทำหนังสือที่ คค 0100/1421 ลงวันที่ 27 ส.ค.2562 กำหนดให้ต้องนำเรื่องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบก่อนไม่น้อยกว่า 7 วัน เช่น การแต่งตั้งนักบริหารระดับสูง การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน และการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนงานตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการหน่วยงานงานในสังกัดสรุปความคืบหน้าการดำเนินของกระทรวงเพื่อชี้แจงสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุถึง นโยบายกลุ่มขนส่งทางบกที่ปรับเปลี่ยนและผลักดันใหม่ 3 นโยบาย คือ 1.การเปลี่ยนนโยบายรถตู้โดยสารหมวด 1 และหมวด 4 กรุงเทพมหานครที่มีอายุครบ 10 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นมินิบัส โดยเปลี่ยนนโยบายจากการบังคับเป็นสมัครใจ ซึ่งมีเหตุผลว่าการเปลี่ยนเป็นมินิบัสทุกคันจะทำให้เกิดปัญหาอุปทานมากกว่าอุปสงค์ ดังนั้นหากพิจารณาเฉพาะผลตอบแทนทางการเงินอาจไม่เหมาะสม
รวมทั้งการเปลี่ยนเป็นมินิบัสอาจทำให้จราจรติดขัดมากขึ้น เพราะตัวรถขนาดใหญ่กว่ารถตู้ทำให้การเปลี่ยนช่องจราจรหรือการเคลื่อนตัวทำได้ช้ากว่า รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีการสร้างรถไฟฟ้า สะพานข้ามแยกและอุโมงค์ทางลอดหลายแห่งที่กระทบการจราจร ในขณะที่ประเด็นอุบัติเหตุพบว่าเส้นทางรถหมวด 1 ในเขตกรุงเทพฯ ทำความเร็วไม่ได้จึงเสี่ยงต่ออุบัติเหตุต่ำ
นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมีนโยบายการยืดอายุการใช้งานรถตู้จาก 10 ปี เป็น 12 ปี โดยมีเงื่อนไขสภาพรถต้องอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด
- เปิดทางรถบ้านวิ่งแข่งแท็กซี่
2.นโยบายการอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างสาธารณะผ่านแอพพลิเคชันได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกการใช้แท็กซี่ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนรถแทกซี่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร ทำให้มีการใช้บริการรถยนต์ส่วนบุคคลผ่านแอพพลิเคชัน แต่ไม่มีกฎหมายกำกับดูแลทำให้ผู้ใช้ไม่ได้รับการคุ้มครอง และการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นจึง ยกร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อกำหนดคุณสมบัติผู้นำรถยนต์มารับจ้าง ลักษณะรถ หลักฐานการยื่นคำขอ เงื่อนไขการจ้างและคุณสมบัติเครื่องสื่อสาร โดยกำลังรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียในช่วง 6 เดือนนี้
3.นโยบายติดตั้ง GPS รถส่วนบุคคล เพื่อลดอุบัติเหตุ โดยจะมีการแจ้งเตือนความเร็วและติดตามพฤติกรรมการใช้รถ ซึ่งเป็นมาตรการสมัครใจและภาครัฐจะจูงใจด้วยการเจรจากับบริษัทประกันภัยเพื่อมีส่วนลดค่าประกันภัยรถ
- เร่งเคลียร์ค่าโง่ 2 ข้อพิพาท
สำหรับการดำเนินงานในส่วนข้อพิพาทกับเอกชนที่มีคำพิพากษาของศาลให้รัฐจ่ายเงินชดเชยมี 2 โครงการ คือ 1.คดีข้อพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้จ่ายเงินชดเชยให้กรณีรัฐบอกเลิกสัญญา โดยกระทรวงคมนาคมสรุปวงเงินที่ต้องจ่าย 24,798 ล้านบาท (ณ 19 ต.ค.2562) และสถานะปัจจุบันรอคำสั่งอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุดประเด็นการฟื้นคดี และอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
2.ข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเสียหายของรัฐฯ มาพิจารณาแนวทางดำเนินการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่มีข้อสั่งการเพิ่ม
- 'ศักดิ์สยาม' มั่นใจได้ข้อสรุป
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ความคืบหน้าของการยุติข้อพิพาททางด่วนระหว่าง กทพ.และบีอีเอ็ม อยู่ระหว่างคณะทำงานพิจารณาสมมติฐาน เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่าสมมติฐานในการแพ้คดีของฝ่ายภาครัฐเปลี่ยนไปแล้ว เพราะที่ผ่านมาไม่นาน กทพ.ชนะข้อพิพาทกับบีอีเอ็ม 1 คดี ดังนั้นตอนนี้คงต้องทบทวนเงื่อนไขกันใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการและคงไม่นานจะได้ข้อสรุป
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาการยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบีอีเอ็ม ระบุว่าคณะทำงานฯ เพิ่งได้ข้อมูลจาก กทพ.ยอมรับว่าอาจใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ
นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ.กล่าวว่า กทพ.ส่งผลการศึกษาเปรียบเทียบแนวทางยุติข้อพิพาททั้งหมดให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ตอบทุกข้อสงสัย โดยเฉพาะหากจะต่ออายุสัมปทานเพื่อยุติข้อพิพาท ก็จะต้องพิจารณาให้ครบรอบด้านว่าต้องต่ออายุกี่ปี
ส่วนกรณีสัมปทานที่อยู่ในข้อพิพาทบางส่วนจะหมดอายุปี 2563 เบื้องต้น กทพ.พิจารณาแนวทางแก้ไขแล้ว โดยจะไม่ให้กระทบประชาชนและทางด่วนจะต้องเปิดบริการต่อเนื่อง ซึ่งแนวทางที่ ศึกษามีทั้ง กทพ.นำสัญญาทางด่วนช่วงที่หมดอายุสัมปทานมาบริหารเอง หรือจ้างผู้รับสัมปทานเดิม คือ บีอีเอ็ม ให้บริหารก่อน
- เร่งเคลียร์ข้อเสนอทางด่วน 2 ชั้น
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า การแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางด่วน ก่อนหน้านี้คณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาท ที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ได้เสนอแนวทางยุติข้อพิพาทให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา แต่ได้รับมอบหมายให้กลับไปพิจารณาสัญญาและเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเด็นความจำเป็นที่ กทพ.ต้องมอบสิทธิ์ให้บีอีเอ็มลงทุนก่อสร้างทางด่วน 2 ชั้น (Double Deck) จากด่านประชาชื่น-อโศก ระยะทาง 17 กิโลเมตร
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องการให้ศึกษาเปรียบเทียบความคุ้มค่าการก่อสร้าง Double deck จะส่งผลให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (EIRR) มีระยะเวลานานขึ้น และจะทำให้สัญญาอายุยาวขึ้นอย่างไร และจำเป็นเพียงใดในการมอบสิทธิ์ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้าง รวมทั้งโครงการจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างไร
ในขณะที่ก่อนหน้านี้ กทพ.ได้ยืนยันข้อมูลว่า การก่อสร้าง Double Deck มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาจราจร แต่การก่อสร้างมีข้อจำกัดเพราะต้องก่อสร้างบนพื้นที่เดิม โดยตอม่อของ Double Deck ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างทางด่วนขาไปและขากลับของทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วน D)
ดังนั้นระหว่างการก่อสร้าง Double Deck จึงต้องทุบหรือปิดการจราจรทางด่วนเส้นปัจจุบันบางส่วน ทำให้การก่อสร้างจะมีผลต่อความปลอดภัยทางด้านวิศวกรรม และกระทบสัญญาทางด่วนเส้นปัจจุบัน โดยหากการก่อสร้างโครงการนี้เป็นเอกชนอื่นมาดำเนินการอาจกระทบทางด่วนที่บีอีเอ็มบริหาร ซึ่งการมอบให้บีอีเอ็มพัฒนาจึงเป็นแนวทางที่อาจแก้ไขปัญหาได้
นอกจากนี้ หากแนวทางยุติข้อพิพาทระหว่างบีอีเอ็ม ไม่มีเงื่อนไขการพัฒนา Double Deck ก็ยังมีทางออกอื่นที่ กทพ.เดินหน้าโครงการต่อได้ คือ กทพ.เป็นผู้พัฒนาเอง โดยอาจนำเงินจากส่วนแบ่งรายได้มาลงทุน Double Deck แต่จ้างบีอีเอ็มเป็นผู้ก่อสร้าง ซึ่งอาจไม่ต้องขยายสัญญาทางด่วนของบีอีเอ็มถึง 30 ปี
- รื้อแผนซื้อฝูงบิน 1.5 แสนล้าน
สำหรับนโยบายที่มีการปรับเปลี่ยนที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา 3 นโยบาย คือ 1.การเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรมฯ–บางขุนนนท์) มูลค่าโครงการ 122,041 ล้านบาท
2.การซื้อฝูงบินใหม่ 38ลำ ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นแผนดำเนินการระหว่างปี 2562-2569 วงเงิน 156,000 ล้านบาท โดยข้อเสนอเดิมจากรัฐบาลชุดที่แล้วแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรก 23 ลำ ครอบคลุมเครื่องบินลำตัวแคบและลำตัวกว้าง ส่วนระยะที่สองรวม 13 ลำ ซึ่งไม่มีการระบุยี่ห้อและรุ่นเครื่องบินที่จะซื้อ
ทั้งนี้ การดำเนินการในปัจจุบันอยู่ระหว่างการทบทวนแผนจัดซื้อ ตามมติคณะกรรมการการบินไทยที่ให้ฝ่ายบริหารไปทบทวนสมมติฐานในโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทบทวนการพิจารณาแหล่งเงินทุนให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ล่าสุดของการบินไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อองค์กรและประเทศ โดยให้เสนอคณะกรรมการการบินไทยภายใน 6 เดือน และขณะนี้ฝ่ายบริหารกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน
- เปลี่ยนประธานบอร์ด รสก.
3.การปรับเปลี่ยนคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งหลังการรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้มีการประเมินการดำเนินงานของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ โดยช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ คือ การแต่งตั้งนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานกรรมการ ร.ฟ.ท.แทนนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานที่ลาออก
การแต่งตั้งนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แทนนายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ที่ลาออก และขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมแต่งตั้งประธานกรรมการการบินไทยคนใหม่แทนนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ที่ลาออกเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา