อดีตกสม.ชี้ 'เดินสายฟ้องสื่อ' เข้าข่ายปิดปาก-กลั่นแกล้ง
"อังคณา" อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ชี้การเมืองเดินสายฟ้องสื่อ เข้าข่ายปิดปาก อาจฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้ง เผยนโยบายของประธานศาลฎีกาให้พิจารณาที่ศาลเดียว
จากกรณีที่ "พรรคภูมิใจไทย" ประกาศฟ้องสื่อเครือเนชั่น โดยให้ ส.ส. กระจายกันไปแจ้งความดำเนินคดีทั่วประเทศ ซึ่งล่าสุดก็เริ่มมีการไปแจ้งความแล้ว แต่ไม่ใช่ ส.ส.พรรค เป็นบุคคลที่อ้างว่าได้รับข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ ก็ไปแจ้งความฐานหมิ่นประมาทเช่นกัน
โดยพื้นที่ที่ไปแจ้งความแน่นอนแล้ว อยู่ไกลสุดขอบประเทศ เช่น สภ.บ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ อยู่ติดพรมแดนไทย-กัมพูชา สภ.โคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การใช้สิทธิ์ฟ้องร้องดำเนินคดีใครก็ตาม เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่การกระจายกันยื่นฟ้องหรือแจ้งความร้องทุกข์ในเรื่องเดียวกัน มูลเหตุเดียวกัน กระจายไปในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ เพื่อหวังสร้างความลำบากเดือดร้อนให้กับคู่กรณีนั้น แบบนี้ถือว่าเป็นการใช้สิทธิ์โดยสุจริตหรือไม่
นางอังคณา นีละไพจิต อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเรื่องนี้ว่า สื่อมวลชนควรจะมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารให้กับสังคม แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรม ซึ่งไม่ควรก้าวล้ำความเป็นส่วนตัวของใครเกินไป แต่ถ้าฝ่ายที่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากการเสนอข่าวของสื่อ ต้องการฟ้องร้องหรือใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ก็สามารทำได้ แต่ลักษณะการฟ้องร้องในลักษณะ "เดินสายฟ้อง" อาจจะเข้าข่ายการฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้ง นานาชาติเรียกการทำแบบนี้ว่า "ฟ้องปิดปาก" หรือ SLAPP (สแลป)
นางอังคณา บอกอีกว่า จริงๆ แล้วความผิดฐานหมิ่นประมาท ควรจะมีการไกล่เกลี่ยกันมากกว่า และหากคู่กรณีเป็นพรรคการเมือง ก็ควรจะเปิดใจให้กว้าง เพราะพรรคการเมือง หรือนักการเมือง มีบทบาทในการทำหน้าที่เพื่อประชาชน ฉะนั้นก็ควรมีความพร้อมในการให้สื่อมวลชนตรวจสอบ ซึ่งหากเกิดลักษณะแบบนี้ ต่อไปจะมีสื่อมวลชนที่ไหนกล้านำเสนอข่าวในรูปแบบการตรวจสอบ
ก่อนหน้านี้ มีนโยบายของประธานศาลฎีกา นายสไลเกษ วัฒนพันธุ์ ที่ระบุว่าการเดินสายฟ้องหลายๆ ศาล หลายๆ ท้องที่ ในความผิดจากมูลเหตุเดียวกัน อาจมองได้ว่าเป็นการเจตนาใช้สิทธิ์โดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลอื่น จึงมีนโยบายให้รวมคดีไว้พิจารณาที่ศาลแห่งเดียว ในถิ่นที่อยู่หรือที่ตั้งของสื่อที่ถูกฟ้อง