วันเหยื่อโลก ทุกคนเป็นเหยื่ออุบัติเหตุบนท้องถนนได้

วันเหยื่อโลก ทุกคนเป็นเหยื่ออุบัติเหตุบนท้องถนนได้

“วันรำลึกถึงผู้ได้รับความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนแห่งโลก" เป็นวันเตือนสติเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือผู้สัญจรทางเท้าก็ตาม ต่างก็เป็นผู้ใช้ถนนร่วมกัน จึงควรร่วมรับผิดชอบต่อทุกชีวิต เพื่อไม่มีผู้ใดตกเป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนน

ในทุกเช้าของวันทำงาน “สัณห์ สอนรักษ์” จะเคลื่อนเก้าอี้ไฟฟ้าเข้านั่งประจำที่ ทำงานประชาสัมพันธ์ในบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง หลังจากทำกิจวัตรประจำวันตามเวลาด้วยความช่วยเหลือของหลานชายวัยรุ่น ที่เป็นเสมือนร่างกายซีกหนึ่งของสัณห์​ ก่อนจะแยกย้ายกันทำหน้าที่ของแต่ละคน ระหว่างวันที่เขาทำงานตามลำพัง คุณแม่ซึ่งบ้านอยู่ไม่ไกลกันมากนักก็ทำอาหารและให้คนมาส่งบุตรชายคนเล็ก สัณห์กินข้าวได้เองด้วยอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวก เพื่อให้มือซ้ายที่ใช้งาน ตักอาหารอย่างช้าๆ นี่คือ ร่างกายที่ฟื้นฟูมาแล้ว 30% จากสภาวะความเป็นผู้พิการขั้นรุนแรง

ย้อนกลับไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว 7 โมงเช้าของวันที่ 25 ธ.ค. “สัณห์” ในวัย 19 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์ไปฝึกงานเทอมสุดท้ายก่อนจบ ปวช. ช่างยนต์​ ระหว่างทางเขาสังเกตว่า มีรถกระบะขับตามหลัง และมันเป็นความจำสุดท้ายก่อนหมดสติ และร่างของเขาถูกเหวี่ยงกระแทกเข้ากับราวสะพาน ศีรษะปักพื้น กระทั่งเมื่อได้สติอีกครั้ง เขาอยู่ในสภาพผู้พิการรุนแรง ไร้ความรู้สึกตั้งแต่ลำคอ เนื่องด้วยศีรษะที่อยู่ในหมวกนิรภัยจึงได้รับการปกป้องเพียงส่วนเดียว แต่กระดูกคอ กระดูกหัวไหล่แหลกละเอียด “สันต์” ต้องเข้ารับการรักษาและพักฟื้นนาน 3 เดือน ต้องยุติสถานภาพ “นักศึกษาช่างยนต์” อย่างถาวร  

จากเดิมตามประสาของชายหนุ่มวัย 19 ปี กำลังตามฝันของเด็กช่างยนต์ จำต้องมาฝึกอาชีพทำงานนั่งโต๊ะ ก่อนจะมาผันตัวเองมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบเหตุคนอื่นๆ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และด้วยใจที่ไม่ยอมแพ้ เขาจึงความมุ่งเรียนจนจบปริญญาตรี สายนิเทศ ได้ทำงานสื่อสารมวลชน 

“สัณห์” บอกว่า เพราะวันนั้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ทำให้วันนี้ เขาต้องมองไปข้างหน้า ต้องเริ่มกำหนดเป้าหมายชีวิตเป็นลำดับ เป็นขั้นตอนพื่อให้ประสบความสำเร็จให้ได้ โชคดีที่เข้าได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและคนรอบข้าง ซึ่งเป้าหมายสูงสุด “สัณห์” ก็คือ การเดินทางรอบโลกด้วยรถยนต์และรถเข็นไฟฟ้า

157378891416

ณ เวลาปัจจุบัน “สัณห์” ยังต้องตรวจและเข้ารับการฟื้นฟูร่างกายอยู่เป็นระยะๆ เมื่อชีวิตต้องไปต่อให้ได้ สัณห์ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถของกรมการขนส่งทางบก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้ประสบภัย ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากที่ใดได้ สัณห์อยากให้สังคมพิจารณาถึงการอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียม มีสิทธิ์ในการเข้าถึงสาธารณูปโภค และการใช้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภท มีทางลาด ทางเท้า ลิฟต์ ห้องน้ำ ที่มีพร้อมบริการอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นคนอย่างเสมอภาค

ชีวิตของ “สัณห์ สอนรักษ์” ได้เปลี่ยนไปตลอดกาล เพียงเสี้ยววินาทีจากความประมาทของคนขับรถที่ดื่มแล้วขับ เนื่องในวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน “สัณห์” ได้บอกเล่าชีวิตเพื่อเตือนใจว่า อุบัติเหตุบนถนนนั้น ป้องกันได้ หากสัณห์ไม่ได้สวมหมวกนิรภัยในวันนั้น เขาคงไม่รอดชีวิต หากคนขับรถกระบะคันนั้นไม่ดื่มแล้วขับ อุบัติเหตุคงไม่เกิดขึ้น เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ยานพาหนะ ผู้โดยสาร หรือผู้สัญจรทางเท้า เป็นผู้ใช้ถนนร่วมกัน จึงต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกชีวิต เพื่อไม่มีผู้ใดตกเป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนน

สถิติอุบัติเหตุบนถนนของไทย ยังติดอันดับโลก

  • ปี 2561 ผู้ขับขี่จักรยานยนต์​ ยังเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุดถึง 92%
  • ขณะที่อัตราการขับขี่รถยนต์ด้วยความเร็วก็ยังสูง การขับรถด้วยความเร็วที่เพิ่มขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ที่ความเปราะบางในการใช้ถนน เช่น ผู้สัญจรทางเท้า ผู้ขับขี่จักรยานและรถจักรยานยนต์
  • ส่วนผู้ที่ดื่มแล้วขับ ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจะเพิ่มขึ้นตามค่าแอลกอฮอล์ในเลือด 
  • ปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การชนและบาดเจ็บมากที่สุด คือ ดื่มแล้วขับรถ ขับเร็ว ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกนิรภัย

แม้ตำรวจได้เพิ่มการบังคับใช้กฎหมายดื่มไม่ขับ ด้วยโทษปรับที่สุดถึง 120,000 บาท หรือจำคุก 6 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ รวมถึงยึดใบอนุญาตขับขี่ที่นานเกิน 2 ปี หรือยกเลิกใบขับขี่ แต่สถิติอุบัติเหตุทางถนนก็มิได้มีแนวโน้มลดลง

ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร "ธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช" ระบุ รัฐบาลให้ความสำคัญกับรูปแบบการจัดการจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตให้เหลือศูนย์ (Vision Zero) ซึ่งครอบคลุมทั้งการลด ป้องกัน ติดตาม ประเมินผล โดยกทม.ยังเป็นตัวอย่างให้จังหวัดโดยรอบในการจัดการความปลอดภัยทางถนนตามแผนแม่บท 

ซึ่งทำงานร่วมกับภาคีอื่นๆ ซึ่งตามแผนแม่บท ได้จัดให้มีโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก โดยมูลนิธิบลูมเบิร์ก เพื่อสาธารณประโยชน์ (BIGRS) และ คณะวิศวกรรมศาสตร์​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาล้ย ในการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยบนถนนของไทยหรือ ThaiRAP และการรณรงค์อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ที่คาดหวังกับโครงนี้ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่นำไปสู่ความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยบนถนน