'พุทธิพงษ์' จับแฮกเฟซหลอกโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

'พุทธิพงษ์' จับแฮกเฟซหลอกโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

"ดีอีเอส-ปอท." แถลงจับแฮกเฟซหลอกโอนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ มีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 34 ล้านบาท

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยในการร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ที่ผ่านมา และมีสถิติรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาดำเนินคดีตามกฎหมาย และเร่งรัดดำเนินคดีตามมาตรการป้องกันและปราบปราม ในห้วงที่ผ่านมา มีสถิติการจับกุมระหว่างเดือนกรกฎาคม - เดือนกันยายน 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 7 ราย ดังนี้ เดือนกรกฎาคม 6 ราย เดือนสิงหาคม 6 ราย และเดือนกันยายน 1 ราย

ล่าสุด วันนี้ (15 พ.ย.) แถลงข่าวจับกุมตัวผู้ต้องหาแฮกเฟซบุ๊ก หลอกยืมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรูปแบบการกระทำความผิด (แผนประทุษกรรม) ที่ซับซ้อน โดยหลอกลวงรับสมัครงานในโลกออนไลน์เพื่อเอาบัญชีผู้อื่นที่มาสมัครงานเป็นบัญชีผู้รับโอนเงินจากเหยื่อ

ซึ่งเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผบก.ปอท. พ.ต.อ.สมเกียรติ เฉลิมเกียรติ รอง ผบก.ปอท. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. พ.ต.อ.ศราวุฒิ บวรกิจประเสริฐ ผกก.2 บก. ปอท. , พ.ต.ท.กมล ทวีศรี รอง ผกก.2 บก.ปอท. เจ้าหน้าที่ กก.2 บก.ปอท. ได้ร่วมกันจับกุมตัว นายวุฒิวัฒน์ ชื่นมโน อายุ 22 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1317/2562 ลงวันที่ 6 พ.ย. 2562 ณ บ้านในจ.จันทบุรี ข้อหา “ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น , โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดย ประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”

 

โดยพฤติการณ์คดี ผู้ต้องหาได้สร้างเฟซบุ๊กปลอมแล้วนำไปหลอกรับสมัครงานเพื่อให้ได้ข้อมูลบัตรประชาชน และเบอร์โทรศัพท์ของบุคคลอื่นเพื่อนำมาสมัครกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นได้ทำการแฮกเฟซบุ๊กของบุคคลอื่น และส่งข้อความไปขอยืมเงินโดยให้โอนเงินเข้าบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เปิดลงทะเบียนไว้ เมื่อได้เงินก็จะนำเงินที่ได้ไปซื้อรหัสเงินสดหรือทำการโอนเงินจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเข้าบัญชีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของ นายชวัลกร ระงับภัย จากนั้น นายชวัลกรก็จะนำเงินที่ได้รับไปซื้อรหัสเงินสดแล้วนำรหัสเงินสดไปขายกับทางแม่ค้าซื้อขายไอเทมเกม หรือทางเว็บไซต์รับซื้อรหัสเงินสด เมื่อได้เงินมาก็จะโอนเงินเข้าบัญชีของผู้ต้องหา

จากข้อมูลมีการโอนเงินจากนายชวัลกรเข้าบัญชีผู้ต้องหาเป็นเงินจำนวนกว่า 8 ล้านบาท และมีเงินหมุนเวียนในบัญชีผู้ต้องหากว่า 34 ล้านบาท ผู้ต้องหาก่อเหตุมาตั้งแต่ ปี 2559 - ปัจจุบัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ยังคงก่อเหตุ

 

นายพุทธิพงษ์ เปิดเผยว่า การใช้ Social Media เป็นองค์ประกอบการกระทำความผิดตามกฎหมายไทย / กฎหมายนานาชาติ (เชื่อมโยงการใช้งาน / ปรากฏเนื้อหา ข้อความ ภาพเคลื่อนไหว หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านทาง Social Media อาทิ (1) การก่อการร้ายสากล / ปัญหาชายแดนภาคใต้ (2) ความรุนแรงสุดโต่ง (3) ยาเสพติด (4) การลามกอนาจาร / เด็กและเยาวชน (5) อาหาร ยา วัตถุอันตราย เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายและอันตราย (6) การฉ้อโกง หลอกลวงทรัพย์ (7) การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเครื่องหมายการค้า ภาพยนตร์ เพลง (8) สินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น (9) ความมั่นคงของประเทศ สถาบันหลักของชาติ (10) ความสงบเรียบร้อยของสังคม / ขัดศีลธรรม จารีต ประเพณีอันดีของไทย เป็นต้น

เกณฑ์การพิจารณาข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) มีหลักเกณฑ์ในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ ซึ่งในกรณีที่ทำการจับกุมได้ที่แถลงข่าวในวันนี้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจเป็นอย่างมากเพราะมูลค่าความเสียหายมีเป็นจำนวนมากกว่า 34 ล้านบาท