อภ. จับมือ ปตท. วางเป้าปี 70 ผลิตยามะเร็งระดับอุตสาหกรรม

อภ. จับมือ ปตท. วางเป้าปี 70 ผลิตยามะเร็งระดับอุตสาหกรรม

อภ.เผยไทยนำเข้ายามะเร็งปีละกว่า 15,000 ล้านบาท จับมือปตท.ตั้งโรงงานผลิตในประเทศ มุ่งผลิตยารักษามะเร็งทุกกลุ่ม วางเป้าเริ่มผลิตระดับอุตสาหกรรมในปี 70 มั่นใจลดราคายานอกลงได้ 50 % ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น รัฐประหยัดงบประมาณ

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง อภ. และบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)ในการจัดตั้งโรงงานผลิตยามะเร็งในประเทศไทยว่า อภ. ได้รับมอบหมายจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ให้จัดหายารักษาโรคมะเร็งที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มยา จ.2 หรือรายการยาสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นเฉพาะและเป็นยาราคาแพงมาก และที่อยู่ในกลุ่มรายการยาที่ประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาในระดับประเทศไทย หรือ ยาซีแอล (CL: Compulsory licensing) โดยให้จัดหา ต่อรองราคายา และจัดซื่อเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษาและเข้าถึงยา

“โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย ขณะที่ยารักษาโรคมะเร็งบางประเภทมีราคาสูงมากและไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด 100 % ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาและรัฐมีภาระค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรคมะเร็งสูงมาก แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการในประเทศผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เพราะโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งจำเป็นต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูง เพื่อป้องกันผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อมภายนอก”นพ.วิฑูรย์กล่าว

นพ.วิฑูรย์ กล่าวอีกว่า อภ. ในฐานะเสาหลักด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการวิจัยพัฒนาและการผลิตยา รวมทั้งมีเครือข่ายกับบริษัทผู้ผลิตยาชั้นนำในต่างประเทศที่ยินดีให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จึงได้เริ่มเดินหน้าโครงการผลิตยารักษาโรคมะเร็งอย่างจริงจัง และจัดทำแผนการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งขึ้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งการเล็งเห็นความสำคัญของการผลิตสารออกฤทธิ์ทางยามีความสอดคล้องกับพันธกิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงพร้อมที่จะสนับสนุน อภ. โดยจะใช้ความเชี่ยวชาญเชิงวิศวกรรม การบริหารโครงการ และการก่อสร้างโรงงาน มาช่วยขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ให้สำเร็จ

       

ความคืบหน้าของโครงการฯ ในปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง โดยผลการศึกษาสรุปว่ามีแนวโน้มที่ดีและมีความเป็นได้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาแนวทางในการลงทุนก่อสร้างโรงงานที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นทางเลือกการลงทุนที่เป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งแผนการดำเนินงานในขั้นต่อไปคือ การคัดเลือกเทคโนโลยีการผลิตยารักษาโรคมะเร็ง การออกแบบโรงงานและการก่อสร้าง การติดตั้งเครื่องจักรกลการผลิตและเครื่องมือวิเคราะห์ พร้อมการทดสอบระบบและตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อให้โรงงานสามารถดำเนินงานได้ภายในปี 2567 และมีเป้าหมายที่จะดำเนินการผลิตระดับอุตสาหกรรมได้ในปี 2570

นพ.วิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า โครงการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งนี้ เป็นโครงการเพื่อพัฒนาด้านความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ ที่ตอบโจทย์ด้านการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ เพราะอุตสาหกรรมยาเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ทั้งด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในการบริโภค ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยลดการพึ่งพาการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจากต่างประเทศ โดยอภ.มุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งในทุกกลุ่มการผลิต ทั้งยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย และยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ทั้งยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) เพื่อให้มียาครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน

“การที่ประเทศไทยสามารถผลิตยารักษาโรคมะเร็งทั้งชนิดเคมีและชีววัตถุในเชิงพาณิชย์ได้ด้วยตัวเอง ทำให้ประเทศมีความมั่นคงและสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านยารักษาโรคมะเร็ง และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น จากการที่จะสามารถลดราคายาลงได้มากกว่า 50 % เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรค ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งลง นอกจากนั้นยังทำให้มูลค่าการนำเข้ายารักษาโรคมะเร็งจากต่างประเทศลดลง ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ายากลุ่มนี้สูงถึง 15,000 ล้านบาทต่อปี” นพ.วิฑูรย์กล่าว