'สุริยะ' ใช้อีอีซีเร่งยกระดับเศรษฐกิจประเทศ
“สุริยะ” เร่งเครื่องเดินหน้าอีอีซีชี้ดึงทุกภาคส่วน ร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจประเทศพ้นปัจจัยลบเศรษฐกิจโลกผันผวน ระบุอีอีซีคือความหวังดันไทยผงาดภูมิเอเชีย
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนา “EEC NEXT: ทุนไทย-เทศ ปักหมุด EEC” หัวข้อ “ดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายลงพื้นที่ EEC” จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า สถานการณ์การแข่งขันทางการค้าและระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งนับเป็นความท้าทายที่ภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยจะต้องเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่สงครามการค้าระหว่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและสหรัฐ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกในภาพรวมของโลกชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญชัดเจน
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เป็นเครื่องบั่นทอน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้การส่งออกและภาคอุตสาหกรรมประสบปัญหา แต่ยังมองในมุมบวกว่า วันนี้ประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะก้าวไปสู่การเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องได้
ไม่ว่าจะเป็นโอกาสจากสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ ที่เป็นประตูสู่เชื่อมต่อไปยังประเทศเศรษฐกิจสำคัญ โอกาสจากการมียุทธศาสตร์และทิศทางการขับเคลื่อนประเทศที่มีเป้าหมายชัดเจน และเป็นรูปธรรมจับต้องได้ สร้างความมั่นใจให้กับนานาชาติ
“หนึ่งในโอกาสสำคัญ ก็คือ การที่เรามีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะเป็นเสมือนหัวจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง โดย EEC เป็น Mega Project ที่จะยกระดับความสําคัญของประเทศไทยในเอเชีย”
นอกจากนี้จะสร้างประโยชน์ให้ประชาชนในพื้นที่ สร้างงานคุณภาพ ภายใต้แนวคิดที่เน้นความครอบคลุม ทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเมือง แบบ Smart Cities การมีระบบสาธารณูปโภคที่เพียงพอ มีแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมที่ครบครัน ซึ่งเอื้อแก่การขนส่งทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ อันจะทำให้ EEC เป็นประตูเชื่อมสู่ CLMV อาเซียน เอเชีย และเชื่อมโยงสู่ตลาดโลกต่อไป
สำหรับการพัฒนา EEC นั้น แบ่งเป็น3 phase หรือ 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 หรือขั้นแรก เป็นการที่รัฐบาลเตรียมการวางกลไกที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสำนักงาน EEC Office การออกพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2561
ขั้นที่ 2 เป็นการเตรียมการวางโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือ Infrastructure ที่เป็น Mega Project ต่างๆ ขั้นที่ 3 เป็นเรื่องการชักจูงการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มุ่งเน้นการพัฒนา “อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ อุตสาหกรรม S-Curve”
“การขับเคลื่อน EEC เราจะยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเดินหน้าต่อยอดขยายผลเพื่อให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ให้มากขึ้น และจะเร่งเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างเต็มที่ ภายใต้ “การสานพลังประชารัฐ” โดยภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการประชาธิปไตย”