เครือข่ายต้านสารพิษเกษตร เสนอรัฐใช้เครื่องจักกลและการปลูกพืชคลุมดินทดแทนการใช้สารพิษกำจัดวัชพืช
มติแบนสารพิษเกษตร 3 ชนิด ส่อเค้าเลื่อนการบังคับใช้ หลังพบปัญหาทางเทคนิคในการจัดทำร่างกฏกระทรวง
หลังมีการแบนสารพิษเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพริฟอส โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาและจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ จนมีกระแสคัดค้านการบังคับใช้จากเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวบางกลุ่ม, ทางเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร ได้แถลงยืนยันการสนับสนุนการแบนสารพิษของรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากรณรงค์จนประสบความสำเร็จมานานกว่าสองปี พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอทางเลือกในการจัดการวัชพืช โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีเกษตรที่เป็นพิษต่ออสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยทางเครือข่ายฯ แถลงยืนยันในงานสัมนา “ทางเลือกเกษตรกรรมไทยหลังแบน พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” วันอังคารที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยมีทางเลือกในการจัดการวัชพืชโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีเกษตร โดยกระทรวงเกษตรฯ ควรเสนอแนวทางนี้แก่คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาเพื่อรับรองประกอบการแบนสารพิษดังกล่าว
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ประสงค์จะให้การแบน 3 สารพิษ โดยไม่ต้องมีการส่งเสริมการใช้สารพิษอื่นมาทดแทน และควรใช้โอกาสนี้ไปสู่เกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน
ซึ่งข้อเสนอของเครือข่ายฯ มี 3 ทางเลือก ได้แก่ การใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรและการใช้นวัตกรรม การปลูกพืชคลุมดินหรือวัสดุคลุมดิน และการปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืช เช่น การปลูกพืชแบบผสมผสาน เป็นต้น
“กระทรวงเกษตรฯดำเนินการเผยแพร่แนวทางและวิธีการทางเลือกต่างๆต่อเกษตรกร โดยให้ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจทั้ง 6 กลุ่ม ครอบคลุมเกษตรกรรายย่อยและเกษตรแปลงใหญ่ รวมทั้งให้ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ โดยเร็ว” เครือข่ายฯ ระบุ
นอกจากนี้ เพื่อให้การแบนสารพิษดำเนินการต่อไปได้ เครือข่ายฯ เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนต่างๆ โดย รัฐบาลควรรับภาระในการชดเชยต้นทุนที่อาจสูงขึ้นในการปรับเปลี่ยนจากการใช้สารพิษมาเป็นวิธีอื่น
เครือข่ายฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ควรประเมินงบประมาณสำหรับการดำเนินการดังกล่าว และเสนอให้รัฐบาลพิจารณาอนุมัติให้ทันก่อนหน้าฤดูกาลเพาะปลูกจะเริ่มขึ้น
นอกจากนี้ รัฐต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรที่ใช้วิธีการควบคุมศัตรูพืชที่ไม่ใช่สารเคมี โดยต้องยกเลิกภาษีเครื่องจักรกลการเกษตร วัสดุคลุมดิน หรือเครื่องมือใดๆ ดังที่รัฐบาลไม่เรียกเก็บภาษีสารพิษทางการเกษตรติดต่อกับมานานเกือบ 30 ปี จนทำให้วิธีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลายเป็นทางเลือกหลักของเกษตรกรบางกลุ่ม ทั้งๆ ที่การใช้สารเคมีเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบภายนอกมีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี, เครือข่ายฯ ระบุ
เครือข่ายฯ ยังกล่าวอีกว่า รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม เครื่องจักรกลอัจฉริยะ พัฒนาบทบาทของวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดช่างชาวบ้าน และอาชีพบริการการควบคุมวัชพืชและศัตรูพืชที่ไม่ใช้สารเคมี
นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังสนับสนุนให้กระทรวงเกษตรฯ และกรรมาธิการวิสามัญควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ผลักดันให้มีการเสนอกฎหมายว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อให้เกิดกลไกใหม่ๆในการขับเคลื่อนให้เกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นทิศทางเกษตรกรรมหลักของประเทศภายในทศวรรษหน้า รวมทั้งแยกกฎหมายว่าด้วยการกำกับควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชออกจากกฎหมายวัตถุอันตราย เพื่อให้การควบคุมการใช้สารพิษเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน และสามารถปกป้องเกษตรกรและผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยได้อย่างแท้จริง
เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้าการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 3 ชนิดตามกรอบเวลาที่มีการกำหนดไว้ ซึ่งในกรณีที่สหรัฐอเมริกา บราซิล และผู้ประกอบการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีในประเทศ เสนอให้มีการทบทวนการแบนไกลโฟเซต เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารนั้น ต้องแยกพิจารณาประเด็นพิจารณา กล่าวคือ รัฐบาลต้องยืนยันว่าการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชของประเทศไทย ยืนอยู่บนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของ IARC องค์การอนามัยโลก และมีงานวิจัยโดยสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศ เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เป็นต้น รองรับอย่างชัดเจน
ส่วนกรณีการกำหนดค่า MRL (Maximum Residue Limit) ซึ่งผู้ส่งออกเรียกร้องให้คงระดับเดิมในกรณีถั่วเหลืองและข้าวสาลีนั้น กระทรวงสาธารณสุขสามารถปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 โดยกำหนดให้มีการกำหนดค่าการตกค้างสินค้าที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้หรือไม่เพียงพอให้ค่า MRL ให้มีค่าต่ำที่สุดเพื่อปกป้องสุขภาพของผู้บริโภค และรัฐบาลต้องออกข้อกำหนดให้ต้องรับซื้อผลผลิตภายในประเทศก่อนการนำเข้าเพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ และควรยกเลิกค่าดังกล่าวให้เป็นศูนย์ ทันทีที่ประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าดังกล่าวได้เพียงพอหรือมีแหล่งการนำเข้าที่ปราศจากการใช้สารได้, เครือข่ายฯ ระบุ
ส่วนกรณีที่สมาคมนักวิชาการด้านอ้อยและน้ำตาลเรียกร้องให้เลื่อนการแบนพาราควอตออกไปก่อน โดยอ้างว่าการแบนพาราควอตทำให้ผลผลิตลดลงครึ่งหนึ่งนั้น ทางเครือข่ายตั้งข้อสังเกตว่า เป็นข้ออ้างที่ปราศจากหลักฐานและงานวิจัยรองรับ เพราะงานวิจัยของกระทรวงเกษตรฯหลายชิ้นกลับพบว่า วิธีการควบคุมวัชพืชที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารเคมีคือการใช้รถไถเดินตามและรถไถติดจอบหมุน และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 6 ชนิด การใช้พาราควอตกลับให้ผลผลิตอ้อยน้อยที่สุด
ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่รัฐบาลจะรับฟังข้อเสนอของกลุ่มดังกล่าว, เครือข่ายฯ ระบุ
“เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร พร้อมจะให้การสนับสนุนเกษตรกรทุกกลุ่มเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยน โดยสามารถประสานงานเพื่อติดต่อดูงานหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการวัชพืชและศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี เพื่อร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่วิถีเกษตรกรรมที่ปลอดภัยและยั่งยืนร่วมกัน” เครือข่ายฯ ระบุ