7 สมาคมยักษ์ใหญ่ ตบเท้าเข้าพบ 'สุริยะ' หารือแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กไทย
7 สมาคมยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล็ก ตบเท้าเข้าพบ “สุริยะ” หารือแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กไทย
นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย โดยการรวมตัวกันของสมาคมผู้ผลิตเหล็กในประเทศที่มีสมาชิก 472 บริษัท เข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรายงานความคืบหน้าสถานการณ์เหล็กในปัจจุบันที่ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ในปี 2561 ไทยมีปริมาณการใช้เหล็ก 19.3 ล้านตัน เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศเพียง 7.3 ล้านตัน และมีกำลังการผลิตเพียง 33% แสดงให้เห็นว่า ในภาพรวมของปัญหาหลักเกิดจากสินค้าในประเทศถูกสินค้านำเข้าแย่งส่วนแบ่งตลาด ซึ่งส่งผลต่ออัตราการใช้กำลังการผลิตด้วย และการเข้าพบในครั้งนี้ ยังได้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กที่ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนความคืบหน้าแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 อีกด้วย
ด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวเสริมว่า สำหรับแนวทางการดำเนินการตามนโยบายการใช้สินค้าภายในประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สมอ. ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล และภายใต้กฎระเบียบขององค์การการค้าโลก รวมทั้ง ควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเป็นพิเศษ ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปัจจุบัน สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานบังคับกับผลิตภัณฑ์เหล็กแล้ว จำนวน 20 มาตรฐาน และได้เร่งรัดแก้ไขมาตรฐานและกำหนดใหม่ เพื่อบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์เหล็กที่ด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ โดยมีมาตรฐานที่อยู่ในขั้นตอนการประกาศบังคับใช้ อีกจำนวน 7 มาตรฐาน ได้แก่
1.มอก. 50-2561 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน แผ่นม้วน แผ่นแถบ
แผ่นตัด และแผ่นลูกฟูก
2. มอก. 528-25xx เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานทั่วไปและงานดึงขึ้นรูป
3. มอก. 1228-25xx เหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็นสำหรับงานโครงสร้างทั่วไป
4. มอก. 1390-2560 เข็มพืดเหล็กกล้ารีดร้อน
5. มอก. 1999-2560 เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานโครงสร้างรถยนต์
6. มอก. 2060-2560 เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน สำหรับงานถังก๊าซ
7. มอก. 2140-2560 เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็น สำหรับงานรถยนต์
นอกจากนี้ ยังมีมาตรฐานที่อยู่ระหว่างการแก้ไขและกำหนดใหม่อีก 16 มาตรฐาน ซึ่ง สมอ. จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ สามารถยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และเพื่อป้องกันการนำเข้าเหล็กที่ด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ
เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้ายว่า “สมอ. ได้กำหนดมาตรการควบคุมและกำกับดูแลการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กอย่างเข้มงวด ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฝ้าจับตาการนำเข้าสินค้าดังกล่าวอย่างใกล้ชิดผ่านระบบ National Single Window (NSW) หากพบมีการนำเข้าในปริมาณมากผิดปกติ จะเข้าทำการตรวจสอบทันที พร้อมเก็บตัวอย่างทดสอบก่อนปล่อยใช้งานทุกครั้งที่นำเข้า เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงกฎหมาย นอกจากนี้ ยังควบคุมการนำเข้าเหล็กลวดคาร์บอนจากประเทศเวียดนาม โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวดก่อนทุกครั้งที่นำเข้า รวมทั้งเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจสอบ เนื่องจากปัจจุบันมีการนำเข้าเหล็กดังกล่าวจากประเทศเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก”