แพทย์ชี้ 7 สัญญาณเตือน 'คนติดเหล้า' รีบบำบัดก่อนเกิดอาการทางจิต
รพ.จิตเวชโคราช เตือน "คนติดเหล้า" รีบบำบัดรักษา ก่อน "อาการทางจิต" มาเยือน พร้อมแนะญาติเช็ค 7 สัญญาณติดสุรา
นายแพทย์กิตต์กวี โพธ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการติดสุราว่า สุรานอกจากจะมีผลเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในร่างกายแล้ว ยังเป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์กดสมองส่วนกลาง ทำให้ผู้ดื่มมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย มีพฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจ หากดื่มจนติด มีความเสี่ยงเกิดอาการทางจิตได้ เช่น ซึมเศร้า จะมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร หรือมีอาการประสาทหลอน ที่พบบ่อยคือหูแว่ว หวาดระแวง ทำให้ระบบความจำบกพร่อง ผู้ป่วยจะสับสนเวลา มีปัญหาการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สมองเสื่อม หรือมีความผิดปกติทางอารมณ์ บุคลิกภาพหรือพฤติกรรม หากไม่หยุดดื่มและรับการรักษา จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคทางจิตเวชสูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ดื่ม เช่น มีโอกาสป่วยเป็นโรคจิตเภท ( Schizophrenia) สูงกว่า 3.8 เท่าตัว มีโอกาสป่วยโรคซึมเศร้า ( Depression ) 3.9 เท่าตัว มีโอกาสป่วยด้วยโรคอารมณ์แปรปรวน 2 ขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ ( Bipolar) 6.3 เท่าตัว และมีโอกาสป่วยเป็นโรควิตกกังวลสูงกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ดื่ม 4.6 เท่าตัว และเมื่อป่วยแล้วโรคจะคงอยู่ถาวร ถึงแม้ว่าจะหยุดดื่มไปแล้วก็ตาม
ผลสำรวจในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนล่าง ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์พบประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอัตราติดสุราร้อยละ 3.70 คาดว่ามีประชาชนติดสุราประมาณ 194,000 คน ในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2561 ถึง 30 กันยายน 2562 มีผู้เข้ารับบริการบำบัดฟื้นฟูแล้วจำนวน 30,369 คน หรือเข้าถึงบริการแล้วร้อยละ 21 ยังมีผู้ติดสุราอีกร้อยละ 79 หรือจำนวน 160,000 กว่าคน ที่ยังไม่ได้รับการบำบัดรักษา ในปีงบประมาณ 2563 นี้ จะเร่งให้เข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุดตามนโยบายของกรมสุขภาพจิต ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตเวชจากปัญหาติดสุราอีกทางหนึ่งด้วย
" ต้องขอความร่วมมือทุกครอบครัว ให้ช่วยกันสังเกตบุคคลในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่ดื่มสุราว่าติดสุราหรือไม่ โดยสามารถสังเกต 7 สัญญาณอาการดังต่อไปนี้ 1. ต้องดื่มมากขึ้นถึงจะได้ฤทธิ์เท่าเดิม 2. เมื่อไม่ได้ดื่มจะมีอาการทางร่างกายปรากฏ เช่นมือสั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ 3. ไม่สามารถควบคุมการดื่มได้ 4.ต้องการจะเลิกดื่มหลายครั้ง แต่ทำไม่สำเร็จ 5. หมกมุ่นกับการดื่มหรือหาสุรามาดื่ม 6. เสียการเสียงาน และ7. ยังดื่มสุราทั้งๆที่เจ็บป่วยทั้งป่วยทางกายหรือทางจิตใจ ซึ่งแสดงว่าหยุดดื่มไม่ได้ " นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวต่อไปว่า หากพบว่าผู้ที่ดื่มสุรามีอาการปรากฏ 3 ใน 7 อาการที่กล่าวมา ขอให้สงสัยว่าอาจติดสุราแล้ว ขอให้รีบพาไปปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง เพื่อให้การดูแลบำบัดรักษา ตามสิทธิในหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะมีระบบการส่งรักษาต่อในสถานพยาบาลระดับต่างๆ ที่ใกล้บ้านตามอาการความรุนแรง โดยมีรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯเป็นศูนย์รับส่งต่อในรายที่อาการรุนแรง ยุ่งยากและซับซ้อน สำหรับการรักษานั้น จะบำบัดอาการถอนพิษเหล้า การฟื้นฟูสภาพด้วยยาและเสริมความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ อารมณ์และสังคม เพื่อให้สามารถหยุดดื่มได้อย่างเด็ดขาด