'ศรีสุวรรณ' ยื่นสอบลูกพรรค 'อนุทิน' ปมรุกป่า 200 ไร่
"ศรีสุวรรณ" จ่อร้อง ป.ป.ช. สอบ "ส.ส.สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง" พรรคภูมิใจไทย ปมมีที่ดิน ภบท.5 กว่า 200 ไร่
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯได้ตรวจสอบรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พบว่า นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ได้ครอบครองที่ดิน ภ.บ.ท.5 จำนวน 2 แปลงรวม 200 ไร่ ในพื้นที่ ม.8 ต.ห้วยยูง อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ซึ่งน่าจะขาดคุณสมบัติของการมีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด
ภบท.5 คือ เอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภาษีดอกหญ้า) ซึ่งท้องถิ่นจะจัดเก็บ ไม่เกี่ยวกับว่าใครเป็นเจ้าของที่ดิน ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน เพราะเจ้าของที่ดินก็ยังคงเป็นของทางราชการอยู่ เพียงแต่อาจจะให้มีการใช้ประโยชน์ชั่วคราว แต่ไม่ถือว่าผู้ที่ใช้ประโยชน์นั้นเป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งปัจจุบันมีคำสั่งกรมการปกครองเมื่อปี 2551 สั่งให้ยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว เพราะปัญหาคือ ส่วนมากเป็นที่ป่าสงวน การแจ้งเสียภาษีก็แจ้งกันเองโดยไม่รังวัด บางรายครอบครองเป็นร้อยเป็นพันไร่ บุกรุกป่าทั้งนั้น ซึ่งที่ดินประเภทดังกล่าว ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินแต่อย่างใด โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 676/2519 กำหนดบรรทัดฐานไว้ว่า “ผู้ที่มีชื่อในใบเสร็จเสียเงินบำรุงท้องที่เป็นเพียงหลักฐานแสดงว่าผู้นั้นเป็นผู้เสียภาษีเท่านั้น ไม่ใช่หลักฐานแสดงว่าผู้นั้นมีสิทธิครอบครอง”
ดังนั้น การที่นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2562 ปรากฏโดยชัดแจ้งว่ามีที่ดิน ภ.บ.ท.5 จำนวน 2 แปลง ๆ ละ 100 ไร่ รวม 200 ไร่ และมีที่ดินที่เป็นโฉนดอีก 22 แปลงรวมมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท และมีทรัพย์สินอื่น ๆ อีกมากมายรวมมูลค่ากว่า 164 ล้านบาท จึงไม่ถือว่ามีฐานะยากจนหรือเป็นเกษตรกร หรือผู้ยากไร้ ซึ่งขัดหรือแย้งต่อ พรฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเป็นเกษตรกร พ.ศ.2535
ดังนั้นนายสฤษฏ์พงษ์ ย่อมรู้ว่าตนเองเป็นผู้ที่อาจขาดคุณสมบัติของการได้สิทธิในการครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ภ.บ.ท.5 แต่กลับไม่ยอมสละที่ดินดังกล่าวคืนให้รัฐเพื่อนำไปจัดสรรให้กับผู้ยากไร้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเท่ากับว่าอาจมีเจตนาที่จะทุจริตต่อหน้าที่ตาม กฎหมาย ป.ป.ช.2561 และอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ 2561 อย่างร้ายแรงในข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ 9 และยังเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักในข้อ 11 ข้อ 12 ข้อ 17 และฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมทั่วไปในข้อ 21 ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ม.219 บัญญัติ
ดังนั้น สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจำต้องนำความไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการไต่สวน สอบสวน เพื่อดำเนินการเอาผิดหรือลงโทษหากพบความผิดในกรณีดังกล่าวต่อไป โดยจะไปยื่นคำร้องในวันพุธที่ 27 พ.ย.62 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี