'ส.ว.สถิตย์' เสนอ สตง. เป็นองค์กรธรรมาภิบาลต้นแบบ พร้อมสร้างการตรวจสอบยุคดิจิทัล
"ส.ว.สถิตย์" เสนอ สตง. เป็นองค์กรธรรมาภิบาลต้นแบบ พร้อมสร้างการตรวจสอบยุคดิจิทัล
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอภิปรายในการประชุมวุฒิสภาในประเด็นรายงานการตรวจสอบสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 โดยกรมบัญชีกลางในฐานะคณะผู้ตรวจสอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561
ส.ว. สถิตย์ กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นของรายงานฉบับดังกล่าว 3 ประการคือ
• เพื่อประโยชน์ในการบริการจัดการและเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการเงินการคลัง
• จึงจำเป็นต้องทราบถึงการรับจ่าย การเก็บรักษา และการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
• การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561
ส.ว. สถิตย์ แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานทางการเงินของ สตง. ดังนี้
1. สินทรัพย์รวมและหนี้สินในปี 2560
สินทรัพย์รวม 3,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 4.3
สินทรัพย์หนุมเวียน 3,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 6.2
สินทรัพย์ไม่หมุนวียน 678 ล้านบาท ลดลงจากปี 2559 ร้อยละ -3.7
หนี้สินรวม 41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 10.8
หนี้สินหนุมเวียน 37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 9.1
หนี้สินไม่หมุนวียน 4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 21.9
2. ผลการดำเนินงานทางการเงินในปี 2560
รายได้ 2,825 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 4.2 ทั้งนี้
ค่าใช้จ่าย 2,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 1.0
รายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย 155 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 121.4
โดย ส.ว.สถิตย์ อภิปรายสรุปว่างบแสดงฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานทางการเงินในปี 2560 บ่งชี้ถึงผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องจากปี 2559 โดยเฉพาะการดำเนินงานมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายถึงร้อยละ 121 โดยรายได้ที่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ มาจากค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบบัญชี แต่อย่างไรก็ตาม ในรายงานไม่ได้แสดงรายละเอียดเอาไว้ว่ามาจากส่วนใดบ้าง
ส.ว.สถิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า งบที่แสดงฐานะการเงินของ สตง. นั้น ถือว่า ได้มีจัดทำตามมาตรฐานและนโยบายการบัญชีภาครัฐตามที่กระทรวงการคลังกำหนด และถือว่าแสดงข้อเท็จจริงโดยรวมค่อนข้างดี อันจะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาการตรวจสอบทางการคลังในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ดร.สถิตย์ เสนอแนะ ให้ สตง. ยึดหลัก 3 ประการ ดังนี้
1. “ต้นแบบที่ดี” สตง. จะต้องเป็น “ต้นแบบองค์กรธรรมาภิบาล” เนื่องจาก สตง. เป็นหน่วยงานหลักในการวางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน จึงควรเป็นหน่วยงานต้นแบบในการเสริมสร้างวินัยทางงบประมาณและการคลังที่ดี และการมีระบบบริหารจัดการที่ดี หรือมีธรรมาภิบาลเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ เป็นแบบอย่างให้หน่วยงานราชการอื่นๆ นำไปปฏิบัติตามได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
2. “มาตรฐานที่ดี” สตง. ต้องสร้างมาตรฐานในการตรวจสอบภายใต้หลักเกณฑ์และรูปแบบเดียวกัน เช่น การจัดทำ “คู่มือหรือแนวปฏิบัติการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานและมีความทันสมัย” ซึ่งไม่เพียงช่วยสร้างมาตรฐานในการตรวจสอบด้านงบประมาณให้สอดคล้องตรงกัน แต่ยังเป็นการเพิ่มระดับความเชื่อมั่นให้หน่วยงานที่ สตง. ตรวจสอบที่มีต่อ สตง. ส่งผลให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลการทำงานของหน่วยงานที่รับตรวจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
3. “ประเมินผลที่ดี” สตง. มีหน้าที่ต้องทำให้กลไกในการตรวจสอบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการจัดเก็บรายได้แผ่นดิน และการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินแผ่นดินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสอดคล้องกับสถานะทางการคลังของประเทศ ดังนั้น การพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ สตง. จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ สตง. จะต้องมีการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย เพื่อพัฒนาระบบและกลไกการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผล รวมการสร้างเครื่องมือหรือพัฒนานวัตกรรมในการตรวจสอบ ที่มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต
เพื่อให้บรรลุหลักการ 3 ประการที่กล่าวถึงข้างต้น สว.สถิตย์ ได้เสนอแนะให้ สตง. นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน จากรายงานพบว่าการลงทุนของ สตง. เป็นลงทุนเฉพาะด้านการก่อสร้างอาคาร ไม่พบว่ามีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หรือ Digital Infrastructure ซึ่งควรเป็นโครงสร้างที่สำคัญของ สตง. ในการปรับเปลี่ยนการทำงานในรูปแบบดิจิทัล (Digital Transformation) รวมทั้งการนำระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้เพื่อเชื่อมข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งบันทึกอยู่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้วได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ปลอดภัย และทำให้ประหยัดงบประมาณด้านบุคลากร ซึ่งจากรายงานในหน้า 38 - 39 พบว่าค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับบุคลากรคิดเป็นค่าใช้จ่ายถึงร้อยละ 88.5 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด