คณะมนตรีคณะกรรมการแม่น้ำโขง เร่งผลักดันแผนยุทธศาสตร์แก้แล้งในภูมิภาค
สมาชิกลุ่มน้ำโขงถูกเรียกร้องให้ให้ความเห็นชอบหลักการและแนวทางปฏิบัติเพื่อประเมินและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน รวมถึงแนวปฏิบัติในการออกแบบเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใช้เป็นคู่มือตรวจสอบในกระบวนการออกแบบเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสได้รับมอบหมายจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 26 ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ว่า การประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญและทุกฝ่ายให้ความสำคัญเพื่อเร่งผลักดัน คือ แผนการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการความเสี่ยงภัยแล้งในภูมิภาคระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2563 – 2568) ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินการตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปในโครงการศึกษา โดยเฉพาะสาเหตุของวิกฤตการณ์ภัยแล้งที่เกิดในภูมิภาคนี้
“ประเด็นวิกฤติการณ์ภัยแล้งในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิกมีความกังวลและเร่งแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบร่วมกัน โดยล่าสุดข้อมูลของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCs) ได้วิเคราะห์คาดการณ์พื้นที่ที่ประสบภัยแล้งในลุ่มน้ำโขงช่วง 4-5 เดือนข้างหน้า เนื่องจากจะมีปริมาณฝนตกน้อยมาก โดยเฉพาะภาคอีสานของไทย” ดร. สมเกียรติกล่าว
ดร. สมเกียรติกล่าวว่า ประเทศสมาชิกในลุ่มน้ำโขงต่างก็ออกมาตรการคุมเข้มการใช้น้ำเพื่อให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ รวมถึงไทยที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบมาตรการเพื่อป้องกันและลดผลกระทบให้กับประชาชนริมแม่น้ำโขงด้วยเช่นกัน
โดยในเวทีนี้ ไทยได้แสดงจุดยืนในการให้ความสำคัญกับปัญหาภัยแล้งในลุ่มน้ำโขง และเน้นย้ำถึงการพัฒนาที่เกิดขึ้นแม้จะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการน้ำ แต่ก็ยังมีโอกาสและความท้าทายในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลต่อการเกิดภัยแล้งรวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา
ดังนั้น เพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว ฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาคร่วมกันกับประเทศสมาชิกของแม่น้ำโขง, ดร.สมเกียรติ กล่าว
โดยสาระสำคัญของร่างยุทธศาสตร์การจัดการภัยแล้งจะครอบคลุมใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1.ดัชนีภัยแล้ง 2.การพยากรณ์ภัยแล้งและการเตือนภัยล่วงหน้า 3.การสร้างขีดความสามารถของบุคลากร 4.มาตรการบรรเทาผลกระทบ และ 5.การแบ่งปันและการเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งในปี 2563 ประเทศไทย โดย สทนช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) จะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการร่วม (Joint Committee: JC) คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จะถือโอกาสนี้เร่งผลักดันและขับเคลื่อนการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำ และการวางกรอบการทำงานร่วมกันระหว่างชาติสมาชิก เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาร่วมกันภายใต้ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 4 ประเทศโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (MRC) ต่างเรียกร้องให้สมาชิกลุ่มน้ำโขงให้ความเห็นชอบหลักการและแนวทางปฏิบัติเพื่อประเมินและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ตามหลักสากล รวมถึงแนวปฏิบัติในการออกแบบเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำของ MRC ที่ใช้เป็นคู่มือตรวจสอบในกระบวนการออกแบบเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างในลำน้ำโขง ซี่งมีประเด็นในเชิงเทคนิคที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมด้านอุทกวิทยา-ชลศาสตร์ การพัดพาตะกอน คุณภาพน้ำ นิเวศวิทยาทางน้ำ การเดินเรือ ความปลอดภัยเขื่อน รวมถึงผลกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนริมน้ำโขง และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงปี 2563 – 2573
พร้อมทั้งเห็นควรผลักดันให้เกิดการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ใน 2 โครงการที่ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) เรียบร้อยแล้ว คือ เขื่อนปากแบง และเขื่อนปากลาย ของ สปป.ลาว ซึ่งแผนปฏิบัติการร่วมประเทศสมาชิกจะได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ประเด็นข้อกังวลต่างๆ ที่อาจะส่งผลกระทบกับลุ่มน้ำโขงมาพิจารณาร่วมกัน โดยจะมีผลกับแผนการจัดทำกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) สำหรับโครงการเขื่อนหลวงพระบางให้เกิดความครอบคลุมชัดเจนในทางปฏิบัติด้วย