TMA จับมือ ศศินทร์ ผลักดันความเป็นเลิศธุรกิจไทย
ผลักดันความเป็นเลิศธุรกิจไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ TMA จับมือ ศศินทร์ ประกาศผลรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards 2019 และ SMEs Excellence Awards 2019
จากการรายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยสถาบัน IMD จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 25 จากทั้งหมด 63 ประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการพิจารณาความสามารถใน 4 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐาน ประสิทธิภาพของภาครัฐ และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ซึ่งในการนี้ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจนับเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ในฐานะผู้ผลักดันการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพของนักบริหาร ได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มการจัดทำโครงการรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards ซึ่งได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 รวมทั้งจัดทำโครงการ SMEs Excellence Awards เพื่อเป็นแบบอย่างการบริหารจัดการที่เป็นเลิศขององค์กรธุรกิจ SMEs โดยหวังว่าทั้งสองโครงการนี้ จะมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับองค์กร ช่วยยกระดับขีดความสามารถในภาคธุรกิจและในการแข่งขันของประเทศโดยรวม อันจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน
รางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards 2019 จำนวน 9 สาขารางวัล ประกอบด้วย
1.สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร (Corporate Improvement Excellence)
2. สาขาความเป็นเลิศด้านการบริหารทางการเงิน (Financial Management Excellence)
3. สาขาความเป็นเลิศด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management Excellence)
4. สาขาความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (Innovation Excellence)
5. สาขาความเป็นเลิศด้านผู้นำ (Leadership Excellence)
6. สาขาความเป็นเลิศด้านการตลาด (Marketing Excellence)
7. สาขาความเป็นเลิศด้านสินค้า/การบริการ (Product / Service Excellence)
8. สาขาความเป็นเลิศด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Excellence)
และสาขารางวัลสำหรับองค์กรขนาดกลางที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท/ปี จำนวน 1 สาขา คือ สาขาความเป็นเลิศในการบริหารจัดการโดยรวม (Corporate Management Excellence)
รางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2019 จำนวน 3 รางวัล ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยธนาคารพาณิชย์คัดเลือก SMEs ที่มีความโดดเด่ดในการดำเนินธุรกิจ 3 ประเภท ดังนี้ ประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) ประเภทธุรกิจบริการ (Services) ประเภทธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง (Trading)
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในฐานะประธานในพิธีมอบรางวัลว่า “โลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้เจริญรุดหน้า ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการดำเนินการของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเกิดจากความเข้าใจและร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และประชาสังคมต่างๆ ในส่วนของภาคธุรกิจ ความท้าทายของผู้นำในโลกยุคใหม่ คือ ทำอย่างไรให้สามารถรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง มองเห็นสัญญาณและคาดการณ์ไปข้างหน้า เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงและเตรียมองค์กรให้พร้อมสำหรับอนาคต โดยใช้ความสามารถในการพัฒนาและบริหารทรัพยากรต่างๆ ทั้ง คน เงิน เทคโนโลยี เพื่อสร้างนวัตกรรม สินค้าและบริการที่เป็นเลิศ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และมีความยั่งยืนโดยไม่สร้างปัญหาและผลกระทบในทางลบให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผมมีความเชื่อมั่นว่าภาคธุรกิจเอกชนของเรามีความพร้อม และมีความตั้งใจที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ก้าวไปสู่ประเทศชั้นแนวหน้า และทุกท่านในที่นี้เป็นประจักษ์พยานของความมุ่งมั่น และเป็นตัวอย่างของความสำเร็จของความเป็นเลิศในด้านต่างๆ”
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธาน สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวถึงการจัดโครงการรางวัลพระราชทาน Thailand Corporate Excellence Awards และรางวัลพระราชทาน SMEs Excellence Awards 2019 ว่า “เป็นการตอกย้ำภารกิจของ TMA ในการสนับสนุนให้เกิดความตื่นตัวในการเพิ่มศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับองค์กร ซึ่งจะส่งผลถึงขีดความสามารถในระดับประเทศต่อไป ทุกๆ องค์กรที่ได้รับรางวัลในวันนี้ นอกจากจะแสดงให้พวกเราเห็นถึงศักยภาพในการบริหารจัดการที่เป็นเลิศแล้ว ผมเชื่อว่าท่านยังเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรอื่นๆ ในประเทศไทย ในการพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย”
ศาสตราจารย์ ดร. เอียน เฟนวิค (Professor Dr. lan Fenwick) ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป การที่บริษัทต่างๆ จะอยู่รอดได้นั้นจำเป็นต้อง Transforms องค์กรอย่างมีกลยุทธ์ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงาน ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรให้มีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจแบบยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวิธีที่สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบัน ผมเชื่อมั่นว่า แนวทางการบริหารจัดการอันเป็นเลิศขององค์กรชั้นนำและผู้ประกอบการ SMEs จะทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ สามารถเรียนรู้วิธีการจัดการของผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เพื่อรองรับความท้าทายของโลกธุรกิจในอนาคตได้เป็นอย่างดี โดยรางวัลพระราชทานทั้ง 2 รางวัล เป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร รวมทั้งทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของธุรกิจไทย”
สำหรับขั้นตอนในการเสนอชื่อองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการรางวัล Thailand Corporate Excellence Awards คณะผู้ทรงคุณวุฒิและคณะอนุกรรมการโครงการฯ เป็นผู้เสนอรายชื่อองค์กรต่างๆ จากนั้นแต่ละองค์กรจะต้องนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการบริหารองค์กร รวมถึงผลลัพธ์และความสำเร็จจากการดำเนินงาน เพื่อโครงการฯ ได้นำข้อมูลไปใช้ประกอบการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่มีรายได้สูงสุด 1,000 องค์กรในประเทศไทย เพื่อคัดเลือกองค์กรที่จะได้รับรางวัลพระราชทานฯ ในแต่ละสาขารางวัลต่อไป
ในการคัดเลือกรางวัล SMEs Excellence Awards องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีระบบการบริหารจัดการโดยรวมเป็นเลิศ ทางธนาคารต่างๆ จะเลือกเฟ้น SMEs ที่ประกอบธุรกิจการผลิต การบริการ หรือการค้าปลีก/ค้าส่ง ซึ่ง SMEs และจะส่งข้อมูลคุณสมบัติองค์กรและแนวทางการบริหารจัดการ ให้กับคณะกรรมการได้พิจารณาคะแนนและประมวลผลข้อมูล เพื่อคัดเลือกองค์กรที่ได้คะแนนผ่านเกณฑ์ จากนั้นคณะกรรมการจะเข้าเยี่ยมชมและพิจารณาให้รางวัลตามระดับความเป็นเลิศ
ทั้งนี้ TMA จะได้รวบรวมข้อมูลมาตรฐานการบริหารจัดการที่เป็นเลิศขององค์กรธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างให้กับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้นำไปศึกษาและปรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการบริหารจัดการต่อไป