ช้าแต่ชัวร์ คือกุญแจสำเร็จ ฉบับซีอีโอ ‘แทรนดาร์’

ช้าแต่ชัวร์ คือกุญแจสำเร็จ ฉบับซีอีโอ ‘แทรนดาร์’

“ส่วนตัวผมเป็นคนทำอะไรเป็นสเต็ป ๆ ไม่ใช่คนที่จะเสี่ยงมาก ๆได้ นิสัยส่วนตัวไม่ใช่คนที่ชอบคิดการใหญ่ แต่จะดูความพร้อมก่อนว่ามีอยู่แค่ไหน มีการเตรียมความพร้อมและมองความพร้อมทีละจุด ๆ”

“กฤษดา สาธุกิจชัย” บอกเล่าถึงตัวตน  เขาเป็นนักธุรกิจที่ทำอยู่หลายธุรกิจ แต่ที่ได้เห็นตามสื่อกันบ่อย ๆจะอยู่ในฐานะของซีอีโอ บริษัท แทรนดาร์ จำกัด (Trandar) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบฝ้าและผนังอะคูสติกชั้นนำของไทยและ บริษัท เนทติเซนท์ จำกัด (Netizen) ที่ปรึกษาการวางระบบซอฟต์แวร์การบริหารจัดการทางธุรกิจ


แต่จากคำกล่าวก็อาจจะขัดกับทฤษฏี “ปลาเร็ว” ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเหมาะสมกับโลกยุคดิจิทัล แต่สำหรับเขา ถ้าหากทำธุรกิจที่ไม่สามารถสเกลได้เร็วแต่กลับว่ายแบบปลาเร็ว ที่สุดก็อาจถึงตายได้ ดังนั้นก่อนจะเดินตามทฤษฏีอะไร ก็ควรเช็คให้ถ้วนถี่่ว่าธุรกิจที่ทำนั้นสเกลได้เร็วแค่ไหน คนอื่นทำก็ไม่เห็นจำเป็นต้องทำตาม ประการสำคัญต้องอย่าลืมว่าถ้าธุรกิจไม่รอดคงไม่ใช่ซีอีโอเท่านั้น แต่พนักงานทุกคนรวมถึงคนในครอบครัวอีกกว่าหลายร้อยชีวิตก็จะไม่รอดไปด้วย


ซึ่งเขามองว่าเวลานี้ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจที่กำลังทำอยู่มีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งแทรนดาร์ที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีได้เอง แบรนด์เป็นที่ยอมรับทั้งในไทยและในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชีย จึงตั้งเป้าจะเติบโตด้วยเทคโนโลยีของตัวเอง และมีเป้าหมายจะพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 5 ปีข้างหน้า


" เวลานี้แทรนดาร์สามารถเติบโตได้ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเอง เพราะต่างชาติก็ยังเชื่อมั่นในสินค้าของเรา พาร์ทเนอร์จากต่างประเทศของเราพอได้เห็นสินค้าต่างก็บอกว่ามันดีมาก ประเทศเขายังไม่มีเลย ยังคิดไม่ได้เลย ทำให้เริ่มรู้สึกว่าเรามีความพร้อมนะ เรามีของนะ ซึ่งหมายถึงการที่เรามีอินโนเวชั่น มีเทคโนโลยีที่จะโตได้ เมื่อก่อนแนวคิดเราก็เป็นเอสเอ็มอีทั่วๆไป พอเรามุ่งมั่นว่าจะต้องขยาย เราก็มีการสร้างโรดแมพ สร้างแบรนด์ สร้างคอร์แวลลู สร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมา"


แทรนดาร์ยังให้ความสนใจและตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ดีสินค้ารักษ์สิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ก็มักจะมาพร้อมกับต้นทุนที่สู ซึ่งสิ่งที่แทรนดาร์พยายามจะทำก็คือ การคิดหาวิธีในการตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมให้ได้ โดยที่ต้นทุนไม่สูงไปกว่าเดิม


"ธุรกิจส่วนใหญ่เวลาพูดว่าทำเพื่อสิ่งแวดล้อมมักจะมีราคาที่แพงขึ้น ๆตลอด เป็นโจทย์ที่ผมให้ฝ่ายวิจัยและพาร์ทเนอร์ว่า จะต้องทำเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ในราคาที่เท่าเดิมให้ได้ ซึ่งภายในสองปีนี้แทรนดาร์เราจะมีโปรดักส์ใหม่ๆที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมลอนซ์สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง"


พร้อมยกตัวอย่าง “แทรนดาร์ ซาวน์บอร์ด” นวัตกรรมใหม่ของแทรนดาร์ ซึ่งสามารถทดแทนผนังยิปซั่ม แผ่นสมาร์ทบอร์ด เพราะมีความโดดเด่นตรงที่ช่วยกันเสียงได้มากกว่าเมื่อเทียบในระดับความหนาเดียวกัน


"เมื่อก่อนโรงแรมมักจะก่ออิฐแต่เดี๋ยวนี้ก็หันมาใช้แผ่นซาวน์บอร์ดกันเพราะมันกันชื้น กันไฟ กันปลวก กันเสียงได้สูงสุด ในออฟฟิศของเราเองก็ใช้แผ่นซาวน์บอร์กั้นห้องทั้งหมด ถ้าเราอยู่ในห้อง ๆจะเงียบมาก เสียงข้างนอกจะไม่เข้ามาและมันจะเงียบกว่าห้องที่เป็นกระจกเสียอีก เรียกว่าสถานที่ที่มีเสียงดัง ๆและกลัวการคอมเพลนก็จะใช้สินค้าเราทั้งหมด ก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้เราส่งออกไปสิงคโปร์ และกัมพูชาแล้ว"


ล่าสุดมีอีกสินค้าหนึ่งก็คือ กาวที่ไม่มีกลิ่นฉุน ไม่มีสารอันตราย เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่เป็นผู้ผลิตฝ้าและผนังอะคูสติก จึงมักจะต้องได้เข้าไปภายในสถานที่ก่อสร้างและได้กลิ่นกาวจากเฟอร์นิเจอร์ จากการตกแต่งอยู่บ่อยครั้ง


"มันถือเป็นเพนพ้อยท์ของคนในวงการผู้รับเหมาตกแต่ง ซึ่งส่วนใหญ่พวกเขาจะสุขภาพไม่ค่อยดีจากการสูดดมกลิ่นต่างๆไม่ว่าจะเป็นวีโอซี หรือแอมโมเนียเข้าไป เราก็เลยผลิตกาวที่ไม่มีกลิ่่น ไม่ฉุนไม่มีสารพิษ ชื่อว่าแทรนดาร์กรู 98 ซึ่งพัฒนาร่วมกับบริษัทที่ออสเตรเลีย เราออกแบบให้เป็นกาวที่พ่นโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า สามารถหยิบไปสเปรย์ใช้งานได้ง่ายๆ มันเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง กาวนี้จะใช้ติดแผ่นลามิเนต หรือประกอบงานเฟอร์นิเจอร์ ใช้น้อยติดแน่น ไม่ทำให้ต้นทุนเพิ่ม ซึ่งเราจะลอนซ์ปีหน้าและจะเริ่มที่กลุ่มตลาดเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่ง"


เขาบอกว่าเคล็ดลับในการทำธุรกิจนั้น บางอย่างก็ต้องพัฒนาขึ้นเอง แต่บางอย่างก็ต้องไปหาความร่วมมือ ไปหาพาร์ทเนอร์มาร่วมกันพัฒนา เพื่อนำเอาจุดแข็งของเขามารวมกับจุดแข็งของตัวเราเองที่มีอยู่ เอาโนว์ฮาวและเทคโนโลยีที่มีอยู่มาจอยกัน ที่สุดเทคโนโลยีใหม่ ๆก็จะเกิดขึ้นมา


"กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เป็นคนที่ไม่ได้อยู่แบบเดิมๆ ผมก็ยังอ่านหนังสือทุกวัน มีการปรับตัวทุกวัน ไม่ได้จมกับโนว์ฮาวหรือความรู้เก่าๆของตัวเอง แทรนดาร์เองแรก ๆก็มีโนว์ฮาวอย่างหนึ่ง แต่ก็มีการพัฒนาสร้างโนว์ฮาวใหม่ ๆไม่เคยหยุดนิ่ง จนทุกวันนี้ก็ยังคิดค้นเทคโนโลยีใหม่อยู่เรื่อยๆ" เขาบอกว่านี่คือคีย์ซัคเซสหลัก ๆของตัวเอง


การทำธุรกิจก็ไม่ควรที่จะอยู่แต่บนเค้กก้อนเดิมๆอีกด้วย แต่ต้องไปแสวงหาเค้กก้อนใหม่ โอกาสใหม่ ๆ กฤษดาเล่าว่าแทรนดาร์ถือเป็นผู้บุกเบิกระบบฝ้าและผนังอะคูสติกในเมืองไทย ซึ่งลูกค้าที่เป็นโรงภาพยนตร์ถือเป็นลมใต้ปีกที่ทำให้สามารถเริ่มต้นในตลาดได้อย่างสวยงาม ซึ่งก็จับมือกันมายาวนานนับสิบปี แต่ทุกธุรกิจย่อมมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องธรรมดา


"เมื่อผมเห็นว่าโรงหนังเริ่มก้าวสู่จุดอิ่มตัวแล้ว เห็นชัดว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ได้ยินข่าวการเปิดตัวโรงหนังใหม่ ๆเลยผิดกับเมื่อก่อน ในวันที่เซ็คเมนท์นี้อยู่ในขาลง เราจำเป็นต้องมีเซคเมนท์อื่นมารองรับเพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ ซึ่งแทรนดาร์ก็ค่อย ๆขยายไปหาลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเฮลธ์แคร์ มหาวิทยาลัย โรงแรม ออฟฟิศบิวดิ้ง ฯลฯ"


นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจสำหรับเขาก็จะไม่ใช่ “การกินรวบตั้งแต่ต้นจนจบ” หรือทำธุรกิจแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนปลายน้ำ แทรนดาร์ไม่เคยคิดทำธุรกิจรับเหมา


"เพราะผู้รับเหมาคือลูกค้าของเรา ผมว่าเราควรทำธุรกิจในโซนที่เราถนัด แบ่งซัพพลายเชนกันดีกว่าการจะกินรวบเพราะมันจะไม่สนุก เราต้องมีเพื่อน มีพาร์ทเนอร์ในวงการ ถ้าเราทำธุรกิจรับเหมาด้วย โดยปริยายต่อไปเราก็จะกลายเป็นคู่แข่งของลูกค้า แต่ถ้าเราช่วยเขาให้คำปรึกษาเพื่อให้เขามีงานเขาก็จะซื้อสินค้าเรา เราขยายธุรกิจได้ด้วยพาร์ทเนอร์ "


มุมมองในการขยายและทำให้ธุรกิจเติบโตของกฤษดาว่าด้วยการขยายตลาด การขยายเซ็คเมนท์ ถามว่าทำอย่างไร? คำตอบคือ การคิดค้นโปรดักส์ เซอร์วิสใหม่ที่ตอบโจทย์ การพัฒนาให้ตรงความต้องการปัจจุบันให้มากที่สุด คือตอบโจทย์ได้ทั้งซัพพลายเชนไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมา ดีเวลลอปเปอร์ ช่าง คอนแทร็กเตอร์ ดีไซน์เนอร์ ฯลฯ ต่างก็แฮบปี้ เช่น ดีเวลลอปเปอร์ได้ของที่ดีมีคุณภาพ ในราคาที่ต้องการ ถ้าเป็นดีไซน์เนอร์ก็เป็นสินค้าที่ทำให้เขานำมาออกแบบได้ง่ายขึ้น เป็นต้น