“ซีเอ็ด”ผนึก“คโยโบ”บิ๊กเกาหลี รุกโมเดลรอดธุรกิจหนังสือ

“ซีเอ็ด”ผนึก“คโยโบ”บิ๊กเกาหลี รุกโมเดลรอดธุรกิจหนังสือ

ซีเอ็ด ผนึก คโยโบ เครือข่ายร้านหนังสือใหญ่สุดจากเกาหลี ถอดโมเดลปลุกชีวิตธุรกิจหนังสือ ดึงนักเขียน นักสร้างแรงบันดาลใจ ปลูกสังคมรักการอ่าน พร้อมรีแบรนด์เข้าถึงคนทุกกลุ่ม ปรับแต่งหน้าร้าน 300 สาขาเข้ากับชุมชน รุกหนักออนไลน์ปีหน้า

นายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างคโยโบ (Kyobo book Center) เครือข่ายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐเกาหลี และซีเอ็ดยูเคชั่น เครือข่ายผู้จัดจำหน่ายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในไทย เพื่อสร้างความร่วมมือทางธุรกิจทั้งสองฝ่ายให้แข็งแกร่งขึ้น ด้วยการถ่ายทอดโมเดลสร้างความแข็งแกร่ง พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ในการจัดจำหน่ายหนังสือ อีกทั้งมุ่งเสริมสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านให้เข้มแข็ง 

โดยความร่วมมือเบื้องต้นจะจัดพิมพ์หนังสือแนะนำของทั้งสองประเทศในภาษาไทยและเกาหลี รวมถึงจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่สื่อถึงวัฒนธรรมของทั้งไทยและเกาหลี เริ่มต้น 100 รายการ ภายใต้แบรนด์ Hottracks อาทิ เครื่องเขียน ดนตรี

นอกจากนี้ ยังร่วมกันเปิดตัวโครงการ “THE INSPIRERS” กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน โดยจะดึงบุคคลที่มีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จ นักคิด สามารถจุดประกายความคิด ปลุกพลังชีวิตให้กับคนอื่น ปลูกสังคมรักการอ่าน

“ในแผนทั้งปี 2563 จะแลกเปลี่ยนแนวคิดเช่นนี้ตลอดทั้งปี โดยมีการแปลภาษาจากภาษาไทย เป็นภาษาเกาหลี มีโค้ดคำพูด บุคคลดังกล่าวที่จะมีติดป้ายทั้งในร้าน คโยโบในเกาหลี และ ร้านหนังสือในซีเอ็ด ช่วยเผยแพร่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มีส่วนจุดประกายความคิด ทำให้คนสนใจรักษาอ่านมากขึ้น รวมถึงการนำสินค้า Hottracks จากเกาหลีมาขายในไทยเริ่มต้น 20 สาขา”

นายเกษมสันต์ ยังกล่าวว่า กิจกรรมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรีแบรนด์ “ซีเอ็ด” พร้อมกับปรับโมเดลธุรกิจเพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล โดยที่หนังสือ แม้จะเป็นสื่อที่เก่าจะไม่ถูกลดความสำคัญและหายไปในตลาด (Disrupt) แต่ทำหน้าที่สร้างองค์ความรู้ พัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของคนยุคดิจิทัล

โดยแผนปรับโครงสร้างธุรกิจของซีเอ็ดว่า ภายหลังจากเข้ามาบริหารธุรกิจเป็นเวลากว่า 1 ปี (ตั้งแต่ พ.ย.2561) ซีเอ็ดได้รีแบรนด์ โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด (Mindset) มองดิสรัป เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ โดยการใช้จุดแข็งจากสาขาที่มีเครือข่ายหน้าร้านกว่า 300 แห่ง เป็นช่องทางทำให้เข้าถึงผู้บริโภค

“หน้าร้านที่มีอยู่ทั้ง 300 สาขา จะต้องปรับภาพลักษณ์ ทั้งการตกแต่งร้าน และหนังสือให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่น (Localization) เช่น ปรับแต่งหน้าร้านให้สอดคล้องกับภาคเหนือ อีสาน ใต้ มีคำภาษาท้องถิ่นติดหน้าร้านต้อนรับ ซึ่งคาดว่าจะครบทุกสาขาภายในปี 2563 ทำให้แบรนด์มีความชัดเจน เป็นจุดสร้างแรงบันดาลใจทำให้คนมีพลังในการพัฒนาตัวเองประสบความสำเร็จ สร้างสังคมรักการอ่าน และรู้ทันโลก”

 

นอกจากนี้ ยังลดจำนวนหนังสือในร้าน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน โดยจะเลือกหนังสือให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในทำเลที่ตั้งของร้านหนังสือมากขึ้น เช่น หากอยู่ติดกับสถาบันการศึกษา ก็จะเน้นประเภทหนังสิอวิชาการเตรียมสอบ หรือ ร้านหนังสือในสำนักงาน กลุ่มคนทำงานก็จะเน้นหนังสือการพัฒนาตัวเอง หรือการทำธุรกิจ การบริหารธุรกิจ ทั้งนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของการซื้อหนังสือพิมพ์เข้ามาช่วยในการคัดเลือกหนังสือแต่ละสาขา การปรับเปลี่ยนโมเดลเช่นนี้ส่งผลทำให้กำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 20%

นายเกษมสันต์ ยังกล่าวด้วยว่า ในปี 2563 จะรุกเข้าสู่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยใช้สิ่งที่คนมองว่าเป็นจุดอ่อน คือหน้าร้านให้เป็นจุดแข็งพร้อมกับปรับปรุงระบบหลังบ้านเว็บไซต์ ให้เป็นช่องทางการซื้อหนังสือออนไลน์ได้ง่าย รวดเร็ว และสะดวก พร้อมกับบริหารจัดการสายส่งหนังสือที่มีพร้อมส่งระยะไกล 3 เที่ยวต่อสัปดาห์ และในกรุงเทพฯ ปริมณฑล 6 เที่ยวต่อสัปดาห์ เข้าถึงคนทั่วประเทศ โดยระบบอี-คอมเมิร์ซ เชื่อมโยงกับหน้าร้านกว่า 300 สาขา โดยปัจจุบันเว็บไซต์มียอดคนเข้ามาหาข้อมูลหนังสือมากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน เพียงแต่ยังไม่มียอดซื้อขาย จึงต้องแปลงให้เป็นยอดซื้อขายมากขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาไปสู่ อี-บุ๊ค ตลอดจนการเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างนักเขียน และผู้อ่าน