อินโดฯหารือญี่ปุ่นตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ

อินโดฯหารือญี่ปุ่นตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ

อินโดนีเซีย หารือญี่ปุ่นเกี่ยวกับการตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ ขณะที่อินโดนีเซีย พยายามหาช่องทางระดมเงินทุนมาใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและใช้ในแผนย้ายเมืองหลวง

ลูฮัต ปันด์จัยตัน รัฐมนตรีประสานงานด้านกิจการทางทะเลและกิจการการลงทุนของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ได้หารือกับนายทาดาชิ มาเอดะ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(เจบิค) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐและเป็นหน่วยงานสินเชื่อเพื่อการส่งออกของญี่ปุ่น เพื่อตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่ากองทุนนี้จะมีขนาดใหญ่แค่ไหน บอกแต่เพียงว่า กำลังหารือเรื่องนี้กับสหรัฐด้วยเช่นกัน

นายปันด์จัยตัน กล่าวว่า การหารือเรื่องตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติที่หารือกับญี่ปุ่นนี้ แตกต่างจากกองทุนที่เห็นพ้องร่วมกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)เมื่อเดือนก.ย. ซึ่งเป็นกองทุนที่รวบรวมเงินทุนจากกองทุนเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงจากยูเออี โดยมีเป้าหมายระดมเงินทุนให้ได้ 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์เพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการย้ายเมืองหลวงใหม่

กองทุนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในแผนก่อตั้งเมืองหลวงแห่งใหม่ในกาลิมันตันตะวันออก ขณะที่งบประมาณของรัฐบาลจะครอบคลุมแค่ 19% ของเงินจำนวน 33,000 ล้านดอลลาร์ที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาเมืองหลวงใหม่เท่านั้น

“ทุกวันนี้ สิงคโปร์ อินเดีย อียิปต์ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย จีน ญี่ปุ่น ล้วนมีกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ แต่เรายังไม่มี ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่อยากล่าช้ากว่าเพื่อนบ้าน”นายปันด์จัยตัน กล่าว

แผนการที่จะตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของอินโดนีเซียเกิดจากแผนการเบื้องต้นที่จะปรับเปลี่ยนกระทรวงที่ดูแลกิจการรัฐวิสาหกิจไปเป็นบริษัทซูเปอร์โฮลดิงแบบเดียวกับเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ หรือคาซานาห์ ของมาเลเซีย

หากกองทุนแห่งนี้เกิดขึ้นจริงในอินโดนีเซีย ก็น่าจะเป็นกองทุนที่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจคล้ายๆเทมาเส็ก ที่เน้นลงทุนในธุรกิจรูปแบบใหม่ และปัจจุบัน อินโดนีเซียก็เป็นที่ตั้งของบริษัทสตาร์ทอัพยูนิคอร์นถึง 5 แห่งถือว่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประธานาธิบดีวิโดโด ก็ประกาศชัดว่าต้องการทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้ในการตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของอินโดนีเซีย บรรดาผู้สังเกตุการณ์ส่วนใหญ่ยังคงไม่มั่นใจและมีความลังเลสงสัย เพราะนายปันด์จัยตัน เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมาว่า จะหารือขั้นสุดท้ายกับยูเออีเร็วๆนี้เรื่องการตั้งกองทุนเพื่อความมั่นคง แต่จนถึงขณะนี้ ก็ไม่มีการประกาศข้อตกลงใดๆร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมออกมา

ขณะที่นักลงทุนต่างชาติรายหนึ่ง ซึ่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อ ให้ความเห็นว่า เขาไม่รู้สึกตื่นเต้นกับข่าวการเตรียมตั้งกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของอินโดนีเซีย พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า แผนนี้น่าจะใช้เวลาประมาณ2-3ปีในการร่างกรอบงานก่อนที่จะเปิดตัวกองทุนดังกล่าว