“ททท.” เจาะเศรษฐีลาวรวยเงียบ! ปั้นรายได้กลุ่มเปย์หนักแสนคน
เดิมนักท่องเที่ยวจาก “สปป.ลาว” อาจเป็นตลาดที่อยู่ใต้จมูกภาคท่องเที่ยวไทย และคิดว่าอย่างไรชาว สปป.ลาวก็นิยมเดินทางข้ามแดนมาจับจ่ายในไทยวันยันค่ำ แต่พอปรับโฟกัสตลาดนี้ใหม่ จะพบว่าไม่ใช่อย่างที่คิดเสมอไป เพราะมีศักยภาพและความน่าสนใจซ่อนอยู่!
ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า ตลาดนักท่องเที่ยว สปป.ลาวมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่สูงมาก เมื่อดูจำนวนที่เดินทางเข้าไทยปี2562พบว่าเป็นปีแรกที่มียอดทะลุ2ล้านคน ททท.จึงจัดงาน “Thanks 2 Million” ที่นครหลวงเวียงจันทน์วานนี้ (6ธ.ค.)เพื่อสร้างสัมพันธ์อันดีและขอบคุณที่ส่งออกนักท่องเที่ยวมาไทยอย่างต่อเนื่อง
“ตลาด สปป.ลาวไม่ใช่แค่ขับรถข้ามแดนมาจับจ่ายซื้อสินค้าฝั่งไทยเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่เลือกเดินทางด้วยเครื่องบินมากขึ้น และไปทุกที่ในไทยทั้งเมืองหลักและเมืองรอง หลังเศรษฐกิจดีขึ้นมาก แม้มีเวลาไม่มาก แต่ต้องการเดินทาง ก็เลือกไทยเป็นจุดหมาย โดยความน่าสนใจที่ซ่อนอยู่คือกลุ่มกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะเศรษฐี ททท.จึงต้องเฟ้นสินค้าท่องเที่ยวตามความสนใจไปเสนอขาย ทั้งชอปปิง ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ สปา รวมถึงธีมปาร์คใหม่ๆ”
นภสร ค้าขาย ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานโฮจิมินห์ ดูแล 3 พื้นที่ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เล่าเสริมว่า แม้ประชากร สปป.ลาวจะมีเพียง6ล้านคน แต่ ททท.มองเห็นศักยภาพด้านการใช้จ่ายท่องเที่ยวของกลุ่มกำลังซื้อสูง อาทิ นักธุรกิจทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่รับช่วงบริหารต่อ นักการเมือง รวมถึงข้าราชการ ซึ่งมีฐานรวมกว่า1แสนคน จึงเตรียมกลยุทธ์เจาะเซ็กเมนต์นี้ ดึงให้มาท่องเที่ยวและจับจ่ายในประเทศไทยมากขึ้นในปี2563
“สปป.ลาวมีกลุ่มคนรวยเงียบกว่า1แสนคน แม้จะเป็นจำนวนไม่มาก แต่ใช้จ่ายสูงมากเมื่อมาเที่ยวไทย เฉลี่ยอยู่ที่ทริปละ5หมื่นบาทต่อคน จากจำนวนวันพักเฉลี่ย4วัน3คืน ดูแล้วอาจจะพำนักในไทยไม่นาน แต่เดินทางถี่เกือบทุกเดือน โดยใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยว สปป.ลาวกลุ่มทั่วไปซึ่งตกอยู่ที่ทริปละ3หมื่นบาทต่อคน”
ทั้งนี้ นิยมมาชอปปิง โดยเฉพาะสินค้าแบรนด์เนมในกรุงเทพฯ และใช้บริการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ เส้นทางที่เดินทางเข้ามากันมากคือขับรถข้ามพรมแดนตรงมาที่ จ.อุดรธานี เพื่อเสริมความงาม แล้วนั่งเครื่องบินต่อไปที่กรุงเทพฯเพื่อชอปปิงหรือเที่ยวทะเลที่ภูเก็ต นอกจากนี้ยังสนใจไลฟ์สไตล์ทานอาหารในร้านที่ได้รับการแนะนำจากมิชลินไกด์บุ๊กของไทยด้วย
“เราจะใช้กลยุทธ์รุกโปรโมทชอปปิงพ่วงใช้บริการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพในปีหน้าอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้โฟกัสเฉพาะกลุ่มกำลังซื้อสูงเท่านั้น แต่ยังใช้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะชาว สปป.ลาวยังคงนิยมขับรถข้ามแดนมาไทยมากถึง90%ส่วนใหญ่ผ่านด่าน จ.หนองคาย มุ่งสู่ จ.อุดรธานี เพื่อขนสินค้าไทยไปใช้และจำหน่าย พร้อมใช้บริการทางการแพทย์ในกรุงเทพฯด้วย หลังจาก2-3เดือนที่ผ่านมา เพิ่งมีการขยายเวลาเปิดด่านที่ จ.หนองคาย จนถึงเที่ยงคืน เสริมจุดแข็งเรื่องการเชื่อมต่อพื้นที่ชายแดนและเครือข่ายเที่ยวบินในไทย”
โดย ททท.สำนักงานโฮจิมินห์มีแนวคิดร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีก เช่น บิ๊กซี เซ็นทรัล เดอะมอลล์ และกลุ่มสยามพิวรรธน์ ส่งเสริมการขายจัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของชาว สปป.ลาวโดยเฉพาะ และมีแผนดึงเซเลบริตี้กับกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด (KOL)ไปชอปปิงและเสริมความงามในไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะโดดเด่นเรื่องค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และสุขภาพที่ได้คุณภาพในราคาไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งเดิมอย่างสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันพบว่านักท่องเที่ยว สปป.ลาวสนใจไปใช้บริการทางการแพทย์และเสริมความงามที่คู่แข่งใหม่อย่างเกาหลีซึ่งมีชื่อเสียงด้านนี้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะใน สปป.ลาว มีชาวเกาหลีเข้ามาลงทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ส่งผลให้ทั้งสองประเทศเกิดการเดินทางแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น
“สำหรับเป้าหมายสร้างการเติบโตของตลาดนักท่องเที่ยว สปป.ลาวมาไทยในปี2563อยู่ที่8%ทั้งในเชิงจำนวนและรายได้ เพิ่มจากปีนี้ซึ่งน่าจะมีจำนวนมากกว่า2ล้านคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า5.5หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย จากปีที่แล้วซึ่งปิดที่จำนวน1.7ล้านคน สร้างรายได้5.4หมื่นล้านบาท” นภสร เล่าปิดท้าย