ตั้งคณะกรรมการแก้เบี้ยประกัน ช.พ.ค.
สกสค.เผยหารือธ.ออมสิน ตั้งคณะกรรมการแก้เบี้ยประกัน ช.พ.ค.ระบุพิจารณาภาพรวมของปัญหาทั้งหมด รวมถึงประกาศรับสมัครบริษัทประกันภัยที่มีความพร้อม รมว.ศธ.กำชับดำเนินการทุกอย่างต้องคำนึงผลประโยชน์ของครูเป็นสำคัญ คาดเสร็จภายใน 3 เดือน
จากกรณีที่มีผู้กู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่สิ้นสุดอายุกรมธรรม์และต้องต่อประกันเงินกู้ ช.พ.ค.ได้ดำเนินการต่อประกันกับบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขความคุ้มครองเดิม แต่ทางบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ปรับราคาเบี้ยประกันเพิ่มสูงขึ้นมากสร้างความไม่พอใจให้ครูนั้น
วันนี้ (9 ธ.ค.2562)นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่าขณะนี้ ทางสกสค.ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องดังกล่าว โดยจะแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด ซึ่งในการประชุมร่วมกับผู้บริหารธนาคารออมสินมีข้อสรุปร่วมกันว่าจะตั้งคณะกรรมการร่วมทั้งสองฝ่ายเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะดูภาพรวมของปัญหาทั้งหมด รวมถึงจะมีการประกาศรับสมัครบริษัทประกันภัยที่มีความพร้อม เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีไม่มีการผูกขาดเกิดขึ้นและหาทางออกที่เป็นกลาง โดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ตามหลักสถิติเมื่อครูมีอายุมากขึ้นมักจะประสบปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้น การคิดเบี้ยประกันจะต้องสูงขึ้นตามอายุ ดังนั้น มองเห็นปัญหาดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้ทุกบริษัทประกันภัยเสนอเบี้ยประกันที่คุ้มครองรอบด้านและมีเบี้ยประกันไม่สูงมากและคุ่มค่าที่สุด ต้องยอมรับว่าการเลือกบริษัทใดบริษัทหนึ่งอาจไม่ถูกใจทุกคนแต่ผมยืนยันว่าจะเลือกแนวทางที่ดีที่สุดให้แก่เพื่อนครูทุกคน
เนื่องจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ได้กำชับว่าการดำเนินการทุกอย่างต้องคำนึงผลประโยชน์ของครูเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามการดำเนินการเรื่องดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งได้กู้เงินในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.5-7 กับทางธนาคารออมสิน และกรมธรรม์จะทยอยครบกำหนดในปี 2562 เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้กู้เงินกับโครงการดังกล่าวจะต้องทำประกันเงินกู้ใหม่ตามสัญญานั้น
โดยล่าสุดทางธนาคารออมสินได้ออกประกาศเชิญชวนบริษัทประกันภัยเสนอกรมธรรม์ประกันสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.แล้ว ทราบว่ามีบริษัทประกันภัยให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมเสนอกรมธรรม์ประกันภัยในโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะประโยชน์จะได้ตกไปอยู่กับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะต้องทำประกันเงินกู้ในรอบนี้
จากข้อมูลของ สกสค.พบว่า ในปี 2562 มีสมาชิกที่ครบกำหนดจะต้อง ทำประกันเงินกู้โครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. 5-7 รอบใหม่ จำนวน 171,051 ราย ปี 2563 จำนวน 125,515 ราย ปี 2564 จำนวน 98,130 ราย ปี 2565 จำนวน 36,011 ราย ปี 2566 จำนวน 13,965 ราย และปี 2567 จำนวน 2,927 ราย รวมทั้งสิ้น จำนวน 447,599 ราย ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินมหาศาลของวงการประกันภัยที่หลายๆ บริษัทต่างต้องการเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ก้อนนี้