แก้ปัญหา 'คอร์รัปชัน' ประชาธิปไตยต้องเข้มแข็ง
หากปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไปพ่วงกับเรื่องประชาธิปไตยจริงๆ แล้ว หมายความว่า การทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งย่อมทุเลาปัญหาทุจริตคอร์รัปชันลงได้
ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (International Anti-Corruption Day) วานนี้ (9 ธ.ค.) ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันว่าเป็น "ภัยคุกคาม" บั่นทอนประเทศชาติ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า การทุจริตคอร์รัปชันมีโอกาสเกิดขึ้นในหลายภาคส่วนและทุกหย่อมหญ้า ทั้งในองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน กับเส้นแบ่งบางๆ ของคำว่า "ระบบอุปถัมภ์" ที่หยั่งรากลึกในสังคมไทย
การนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า "ข้าพเจ้า จะประพฤติปฏิบัติตน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำการทุจริต จะยึดมั่นในความยุติธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน จักปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยจิตอาสา พร้อมทำความดี ด้วยหัวใจ ตลอดไป"
การประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว นับเป็น "ความกล้าหาญ" ของผู้นำประเทศ สะท้อนถึง "ภาวะผู้นำ" ที่จริงจังในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้คนไทย "ก้าวข้าม" ระบบอุปถัมภ์และเพิกเฉยต่อการทุจริต โดยร่วมกันปราบปราม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติ ทว่าการประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว สำคัญกว่าคำพูดจำเป็นต้องมีแผน "ปฏิบัติการ" เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวด จริงจัง ผ่าน "องค์กรกำกับความโปร่งใส" ต่างๆ ซึ่งต้องบอกว่า เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่จะแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐ ที่มีอำนาจชี้เป็น-ชี้ตายในหลายเรื่อง อาทิ ในการประมูลงานต่างๆ เป็นต้น
สะท้อนจากการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International-TI) เผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index-CPI) ประจำปี 2018/2561 พบว่า ไทยได้ 36 คะแนน (อันดับที่ 99 จากทั้งหมด 180 ประเทศ) จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ถูกลดอันดับลง จากอันดับที่ 96 เมื่อปี 2560 ซึ่งได้คะแนน 37 คะแนน เป็นอันดับที่ 99 (จากทั้งหมด 175 ประเทศ)
ทั้งที่เคยทำอันดับได้ดีขึ้นจากเมื่อปี 2559 ที่เคยอยู่ในอันดับที่ 101 ได้คะแนน 35 คะแนน นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ขององค์กรแห่งนี้ยังระบุด้วยว่า ยิ่งมีการคอร์รัปชันมากขึ้นเท่าใด ยิ่งจะทำให้เกิดวิกฤติทางประชาธิปไตยมากขึ้นเท่านั้น
วันนี้ (10 ธ.ค.) ของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญ อีกหนึ่งวันสำคัญของไทย ในการรำลึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรก ฉบับถาวร ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย ณ วันที่ 10 ธ.ค.2475 หลังไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน ไปสู่ "ระบอบประชาธิปไตย" โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งใช้กฎหมาย "รัฐธรรมนูญ" เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
เวลาผ่านไป 87 ปี ไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วมากถึง 20 ฉบับ เป็นนัยสะท้อนถึงปัญหาประชาธิปไตย หรือไม่อย่างไร ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันตอบคำถามนี้ หากปัญหาทุจริตคอร์รัปชันไปพ่วงกับเรื่องประชาธิปไตยจริงๆ แล้ว หมายความว่า การทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งย่อมทุเลาปัญหาทุจริตคอร์รัปชันลงได้