กลุ่ม 'บีทีเอส' ไล่ล่าธุรกิจใหม่ ควักเงินซื้อ 1.5 หมื่นล้าน
ปี 2562 ไม่ใช่ปีที่ดีสำหรับการลงทุนสักเท่าไร ด้วยภาวะตลาดหุ้นผันผวนลงทุนทำกำไรได้ยาก (หากลงทุนระยะเวลา 1 ปี ) ดัชนีเรียกว่าแทบจะไม่ไปไหน
แต่คงไม่ใช่สถานการณ์ของกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัทลูกเจ้าของสื่อนอกบ้าน บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI อย่างแน่นอน
ตลอดทั้งปีที่ผ่านมากลุ่มบีทีเอสสยายปีกเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทที่ไม่เป็นธรกิจหลักจำนวนมาก จนทำให้เกิดคำถามตามมามากมายว่า จะต้องการเปลี่ยนไปเติบโตในธุรกิจอื่นหรือไม่ หรือธุรกิจการให้บริการเดินรถไฟฟ้าไปต่อไม่ไหว
หากไล่จากดีลการเข้าไปซื้อหุ้นรายการใหญ่ (Big Lot) พบว่าปีนี้ใช้เงินซื้อไปแล้วทั้งสิ้น 8,324 ล้านบาท ใน 5 ธุรกิจ ซึ่งเป็นการซื้อลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นแทบทั้งสิ้น
จากก่อนหน้านี้ ปี 2561 ได้ทุ่มเงินถึง 5,900 ล้านบาท ซื้อหุ้น 23 % ในธุรกิจโลจิสติกส์รายใหญ่ในไทย อย่าง ‘เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย)’ เมื่อรวมในช่วง 2 ปีแล้ว กลุ่มบีทีเอสใช้เงินลงทุนซื้อหุ้นในธุรกิจอื่นๆ 14,224 ล้านบาท
รายการใหญ่ในการเข้าไปซื้อหุ้นธุรกิจอื่นในปีนี้ คือการยอมทุ่มเงินซื้อลงทุนในเบอร์ 1 ธุรกิจสื่อนอกบ้าน บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB จำนวน 721 ล้านหุ้น จากผู้ถือหุ้นเดิมและหุ้นเพิ่มทุน เพื่อถือหุ้นสัดส่วน 18.59% ในราคาหุ้นละ 6.40 บาท รวมเป็นมูลค่า 4,614 ล้านบาท ผ่านการถือหุ้นของ VGI ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BTS
PLANB มีสื่อนอกบ้านหลากหลายมีทั้งสื่อดิจิทัล-ออนไลน์ สื่อตามรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) สื่อภาพนิ่งตามรถขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สื่อตามสนามบิน และตามห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต และเป็นผู้ทำคอนเทนส์เพื่อขาย มีสินค้าคือวงเกิล์กรุ๊ป ที่ได้รับความนิยม’ BNK48’ ทำให้สามารถตอบโจทย์ที่เป็นผู้นำธุรกิจสื่อนอกบ้านของ VGI ได้แบบไม่มีคู่แข่ง
ถัดมาเข้าไปลงทุนใน บริษัทโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE จำนวน 37.96 ล้านหุ้น ราคา 13.04 บาท มูลค่า 495 ล้านบาท ถือหุ้นสัดส่วน 9.11% พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่มีบริษัทร่วมทุน (JV) กับทาง Hongkong Land หรือ HKL และ nCrowne
พร้อมกับการเดินหน้าพัฒนาคอนโดมีเนียมซุปเปอร์ลักซัวรี่ ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มบีทีเอสมีการลงทุนในธุรกิจนี้อยู่แล้ว ทั้ง บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U และการร่วมลงทุนกับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI
หากแต่ดีลการซื้อหุ้นที่เริ่มฉีกไปจากธุรกิจหลักเริ่มเห็นมากขึ้นตั้งแต่การซื้อหุ้นบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 จำนวน 70 ล้านหุ้น ราคา 21.43 บาท มูลค่า 1,510 ล้านบาท ตามมาด้วยการสร้างความฮือฮาด้วยการเข้าถือหุ้นใน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS จำนวน 68 ล้านหุ้น ราคา 15.00 มูลค่า 1,050 ล้านบาท เพื่อถือหุ้นในสัดส่วน 6.06 %
และล่าสุดการเข้าลงทุนในบริษัท ฮิวแมนิก้า จำกัด (มหาชน) หรือ HUMAN ดำเนินธุรกิจบริหารซอฟแวร์ให้กับลูกค้าคอร์ปอเรท จำนวน 85 ล้านหุ้น ราคา 7.70 บาท มูลค่า 655 ล้านบาท เพื่อถือในสัดส่วน 12.50%
การเดินหน้าลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักด้วยการเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 10% เป็นเรื่องที่ไม่ได้กระทบฐานการเงินของกลุ่มบีทีเอส แต่ด้วยรายได้หลักที่อิงกับธุรกิจบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน 80% แต่ด้วยธุรกิจที่อิงกับสัมปทานและการขยายมีปัจจจัยด้านการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้การเติบโตรายได้ไม่สม่ำเสมอ
สวนทางกับธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 14%, 1% และ 5% ตามลำดับ แต่กลับมีการเติบโต 32.1%, 14.7% และ 101.2% ตามลําดับ ที่สำคัญยังมีอัตรากำไรขั้นต้นดีกว่าเป็นเท่าตัว
อัตรากำไรขั้นต้นธุรกิจสื่อโฆษณาอยู่ที่ 50.7% ธุรกิจอสังหาฯ 19.1% ธุรกิจบริการ 3.9% ส่วนธุรกิจจัดการระบบขนส่งมวลชน อยู่ที่ 16.8% ซึ่งทางบีทีเอสระบุชัดเจนว่าการเข้าซื้อธุรกิจอื่นเป็นการมาเสริมรายได้ในอนาคต ไม่ต้องการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แต่จะใช้กลยุทธ์ให้สินค้าหรือบริการมาตอบโจทย์ธุรกิจหลักของบีทีเอสสุดท้ายทำให้รายได้เติบโตได้ต่อเนื่อง