แจงเลื่อนภาษีที่ดิน ติดขัดความพร้อม มท.ปัดเอื้อกลุ่มทุน
มท.2 รับยังไม่พร้อมเหตุขยายเวลาบังคับใช้ "ภาษีที่ดิน" ปี 63 ยันไม่ใช่อุ้มนายทุน ขณะที่ผู้ประกอบการชี้การเลื่อนไม่มีผล แนะอย่าตุนแลนด์แบงก์ยาว
ตามที่พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนดให้เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 จากความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังในการออกกฎหมายลำดับรองอีก 8 ฉบับ ซึ่งยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงเลื่อนไปเป็นภายในเดือน ส.ค.2563 จากเดิมต้องเสียภาษีภายใน เม.ย.2563 นั้น นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ยอมรับว่า มีข้อติดขัดเรื่องความพร้อม การเตรียมเอกสารและราคาประเมินความพร้อมของเจ้าหน้าที่ และผู้ประเมินที่ดิน รวมถึงระเบียบข้อบังคับต่างๆ
ส่วนที่มีภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการยื้อเวลาช่วยนายทุนที่ถือครองที่ดินนั้น ยืนยันว่าไม่ใช่การยื้อแน่นอน เพราะการบังคับใช้กฎหมายพร้อมกันทั่วประเทศ ทุกฝ่ายต้องมีความพร้อม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ ต้องมีแนวทางทำงานเหมือนกันทั้งหมด
ทั้งนี้ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้ง 8 ฉบับนั้น จะเร่งดำเนินการให้ทันภายในกรอบเวลาที่ขยายออกไป และคงไม่ต้องทำความเข้าใจอะไรกับกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยทำทุกอย่างตามขั้นตอนอยู่แล้ว
ขณะที่ความเห็นของผู้ประกอบการ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมี่ยม บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ระบุว่า การเลื่อน ไม่มีผลอะไร เพราะการจัดเก็บภาษีเริ่มปี 2563 เหมือนเดิม และภาระภาษียังเกิดขึ้นเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
ทั้งนี้ในส่วนผู้ประกอบการ แนวทางการพัฒนาอสังหาฯต้องแม่นยำขึ้น เนื่องจากมีภาระภาษีของการถือครองทรัพย์สินเหล่านี้เป็นต้นทุน และต้องพยายามปิดโครงการให้เป็นไปตามกำหนดที่วางไว้ มิเช่นนั้นจะมีภาษีที่ดินเข้ามาจากการที่ถือครองสต็อก ซึ่งมีระยะเวลาผ่อนช่วงปลอดชำระในการรถือครอง 3 ปี จากพ.ร.บ.จัดสรรและใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียม
ขณะที่นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค ระบุเช่นเดียวกันการเลื่อนการชำระภาษี ไม่มีผลอะไรเพราะอยู่ในปีเดียวกัน และเห็นว่าผู้ประกอบการยังต้องปรับตัว เช่น ไม่ซื้อที่ดินมาเก็บไว้นาน อย่างช้าต้องภายใน 3 ปี เพราะต้องเสียภาษี หากจะเก็บไว้นานต้องมั่นใจว่าคุ้มค่า เช่น เป็นที่ดินที่จะจะมีถนนเส้นใหม่ หรือทางด่วนมาใกล้ๆ เป็นต้น
ในส่วนของบริษัทได้ให้ความสำคัญกับบริหารเงินสด โดยไม่สร้างสต็อกมากเกินไป พยายามบริหารสต็อกให้มีเพียงพอที่จะขายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน สำหรับโครงการแนวราบ ส่วนคอนโดจะไม่ขึ้นโครงการใหม่ เพราะมีแนวโน้มว่าจะโอเวอร์ซัพพลายอยู่หลายแห่ง
ด้านนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันถือว่ายังไม่พร้อมกับการประกาศใช้ภาษีที่ดินฯ จากภาวะเศรษฐกิจ และการที่ภาครัฐพยายามกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาคประชาชนผ่านมาตรการต่างๆ รวมไปถึงภาคอสังหาที่ประกาศมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเร่งการระบายสต็อกที่เกินค่าเฉลี่ยปกติอยู่ที่ 200,000 ยูนิตต่อปี จึงเห็นว่ามาตรการภาษีฯจึงไม่ควรเข้ามาซ้ำเติมตลาดที่กำลังชะลอตัว
นอกจากนี้ การที่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังมีปัญหา มีภาคอสังหาที่สามารถเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชนให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ ดังนั้นจึงยังไม่ควรเพิ่มภาระจากมาตรการภาษีที่ดิน แม้ยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบจากภาษีที่ดินฯ แต่คาดว่าอาจจะทำให้คนกลัว ไม่กล้าซื้อบ้าน ดังนั้นการเลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จึงถือเป็นการช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้ประชาชนตัดสินใจซื้ออสังหาง่ายขึ้น