สอวช.เปิดแผนขับเคลื่อน 'ศก.บีซีจี' ตั้งซูเปอร์บอร์ด-ปลดล็อคกฎหมาย
สนง.สภานโยบายฯเปิดโมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ "บีซีจี" ชงตั้งซูเปอร์บอร์ด มีนายกฯนั่งประธาน-มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งอำนาจกำหนดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค พร้อมเล็งแก้กฎหมายขนส่งขยะของเสียออกนอกพื้นที่
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ "บีซีจี" ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและระบบเศรษฐกิจสีเขียว ตั้งเป้าเพิ่มจีดีพีของประเทศเป็น 4.5 ล้านล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า
นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า อว.ร่วมกับ "ประชาคมวิจัย" จัดทำสมุดปกขาวบีซีจีนำเสนอและผ่านการเห็นชอบจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งได้สั่งการให้หารือในประเด็นทางกฎหมายกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าจะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร รวมถึงประเด็นการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
- พลิกโฉมสู่การทรานส์ฟอร์ม
การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนในกระทรวงต่างๆ จึงต้องมีการประสานงานข้ามกระทรวงและเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ ให้ทํางานอย่างมีเอกภาพ ทาง อว.จึงออกแบบโครงสร้างในการขับเคลื่อนไว้ 3 ระดับ คือ 1.คณะกรรมการนโยบายระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจี ทําหน้าที่กําหนดนโยบายผลักดันและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย 2.สํานักงานพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจี ทําหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการฯ ประสานความร่วมมือกับกระทรวงและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 3.หน่วยบริหารจัดการโครงการยุทธศาตร์ตามสาขาของเศรษฐกิจบีซีจี 8 สาขา อาทิ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจหมุนเวียน และอาหาร
"ปัจจัยสำคัญสุดที่ประเทศไทยต้องมีและจะพลิกโฉมสู่การปรับเปลี่ยน คือ 1.โครงสร้างการบริหารที่มีอำนาจตัดสินใจเบ็ดเสร็จและมีกฎหมายรองรับ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยในหลากหลายส่วน ได้แก่ 1.1 อำนาจในการปลดล็อคกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค อย่างเช่น กฎหมายขนส่งของเสียจากโรงงานหนึ่งไปเป็นวัตถุดิบดัดแปรสู่อีกโรงงานหนึ่ง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สุดและจะเห็นเป็นอันดับแรก หรือแม้กระทั่งการนำเข้าพันธุ์พืช พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลที่มีขอบเขตการผลิตในพื้นที่ ซึ่งจะปลดล็อคทั้งประเทศไม่ได้เนื่องจากมีประเด็นในเรื่องของส่วนได้ส่วนเสียจึงต้องทำในแต่ละพื้นที่ และนำโมเดลเหล่านี้ไปขยายต่อยอดยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
- สร้างเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ
1.2 อำนาจในการกำหนดพื้นที่ทดลองทางนวัตกรรม (แซนด์บ็อกซ์) ที่จะต้องกำหนดอย่างชัดเจนเพื่อแก้กฎหมายที่จะขับเคลื่อนบีซีจีโดยเฉพาะ 1.3 อำนาจสั่งการให้เกิดการดำเนินงานข้ามกระทรวงได้ อำนาจในการเสนอการออกกฎ ระเบียบ ประกาศ ที่ส่งเสริมการปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม หรือแม้กระทั่งการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการจากการสั่งการ "ท็อป ดาวน์" เป็นการบริหารจัดการแบบ "จตุรภาคี"
2.มีการลงทุนร่วมรัฐ เอกชนและชุมชน อาทิ รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบมาตรฐาน การวิจัยและพัฒนา การยกระดับศักยภาพ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบ เกษตรกรและชุมชน สามารถเข้าถึงบริการและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม อีกทั้งจัดตั้งกองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอีในการปรับเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจเส้นตรงที่เป็นการผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง สู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่เน้นการนำวัตถุดิบจากสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ พัฒนาไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ
พร้อมเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดผู้เล่นระดับโลกที่มีความเข้มแข็ง เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการวิจัยและนวัตกรรมระดับโลก และการตลาดแบบไร้พรมแดนด้านบีซีจี
- 4 สาขายุทธศาสตร์เป้าหมาย
รากฐานของบีซีจีมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมากทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการจ้างงานรวม มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ครอบคลุม 4 สาขา ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าเป็น 4.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของจีดีพีในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ อาหารและการเกษตร, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ,การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้ง 4 สาขายุทธศาสตร์ดังกล่าวสามารถพัฒนาอย่างอิสระ แต่การเชื่อมโยงและการพัฒนาไปพร้อมกันทั้ง "คน-กำไร-โลก" จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
หัวใจสำคัญของบีซีจีโมเดลคือ การพัฒนาแบบคู่ขนานทั้งในส่วน "ยอดปิรามิด" ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการหรือเกษตรกรที่มีความพร้อมสูง มีกำลังในการลงทุนด้านเทคโนโลยี พร้อมรับความเสี่ยงสามารถเข้าถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการระดับสูงสําหรับผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงมากๆ และในส่วน "ฐานปิรามิด" เป็นการยกระดับผลิตภาพและ มาตรฐานให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เกษตรกรรายย่อยและภาคชุมชน
"แม้ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแต่ส่งผลกระทบสูง เนื่องจากเกี่ยวข้องกับคนจํานวนมากที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจสําคัญของประเทศ โดยการพัฒนาทั้งหมดจะต้องเสริมความเข้มแข็งให้กับทุนทางสังคม เพื่อเป็นการจัดสรรเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาอย่างครอบคลุมเพื่อให้คนจำนวนมากได้ประโยชน์" นายกิติพงค์ กล่าว