‘จุฬางกูร’ บินเดี่ยวฟื้นนกแอร์ ส่อเพิ่มทุนอีก 1.5 พันล้าน
การปิดสมุดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นของ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเวลานั้นปรากฏรายชื่อ "ผู้ถือหุ้นใหญ่" อยู่ถึง 14 ราย
...ผ่านมา 6 ปี ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ NOK ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง “4 ราย” เท่านั้น!
ในจำนวนนี้เป็นคนตระกูล “จุฬางกูร” ถึง 3 คน ได้แก่ ณัฐพล จุฬางกูร ถือหุ้น 24.33% หทัยรัตน์ จุฬางกูร ถือหุ้น 22.15% ทวีฉัตร จุฬางกูร ถือหุ้น 20.94% และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ถือหุ้น 15.94% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 16% เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย
จำนวนผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ค่อยๆ หายไป จนสุดท้ายเหลือแต่กลุ่มจุฬางกูร สะท้อนสถานการณ์ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
จากที่เคยมีกำไร 1.06 พันล้านบาท ในปี 2556 หลังจากนั้นกลับขาดทุน 5 ปีรวด และก็มีแนวโน้มว่าจะขาดทุนอีกเพิ่มเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน จนปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นดำดิ่งติดลบไปกว่า 2.7 พันล้านบาท ร้อนจนบริษัทต้องประกาศเพิ่มทุนถึง 2 ครั้ง ภายในปีเดียวกันนี้ และยังเป็นครั้งที่ 4 ภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี
NOK ประกาศเพิ่มทุนครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ค. 2560 ได้เงินมา 1.22 พันล้านบาท ถัดมาในช่วงเดือน ต.ค. 2560 เพิ่มทุนอีก 1.7 พันล้านบาท ก่อนจะเพิ่มทุนอีกครั้งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้เงินไป 2.3 พันล้านบาท และล่าสุดนี้ยังคงต้องการเพิ่มทุนอีกราว 2.2 พันล้านบาท โดยจะเสนอขายช่วงต้นปี 2563 ราคาเพิ่มทุน 2.50 บาทต่อหุ้น สูงกว่าราคาตลาดปัจจุบันที่ 2.06 บาท
แต่จำนวนเงินที่จะได้เข้ามาจากการเพิ่มทุนรอบนี้ อาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่ประกาศออกมา เพราะดูจากการเพิ่มทุนครั้งล่าสุด จะเห็นว่าอีกหนึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง การบินไทย (THAI) ก็ไม่ได้สนใจที่จะใส่เงินเข้ามาเพิ่มแล้ว และมีแนวโน้มว่าการเพิ่มทุนรอบนี้ก็คงจะไม่ต่างกัน
เพราะฉะนั้น การเพิ่มทุนครั้งนี้ อาจเป็นเหมือนการเดิมพัน (ครั้งสุดท้าย?) ของกลุ่มจุฬางกูร ที่ต้องหวังพึ่งตัวเอง ทั้งด้านเงินทุน และการบริหารที่ต้องส่ง วุฒิภูมิ จุฬางกูร เข้ามานั่งตำแหน่งประธาน เพื่อให้ NOK ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้
หากคำนวณเฉพาะเงินเพิ่มทุนจากกลุ่มจุฬางกูร รอบนี้ น่าจะอยู่ที่ราว 1.5 พันล้านบาท เท่ากับว่าบริษัทจำเป็นจะต้องเร่งสร้างกำไรเข้ามาชดเชยในส่วนทุนที่ติดลบอีกราว 1-1.2 พันล้านบาท
เมื่อดูจากแนวทาง "พลิกฟื้น" ผลประกอบการของบริษัทที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ ทางที่ดูเหมือนจะจับต้องได้มากที่สุดคือ "การลดต้นทุน" ซึ่งเริ่มจะเห็นผลบ้างแล้ว จากจำนวนเครื่องบินที่ลดลง 4 ลำ เหลือ 22 ลำ ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนค่าโดยสารและการให้บริการลดลง 17.53%
ในขณะที่อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร และรายได้รวม ลดลงเพียง 1.54% และ 2.79% ตามลำดับ ส่วนอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 9.47 ชั่วโมงต่อวัน จาก 8.37 ชั่วโมงต่อวัน
โดยรวมทำให้ผลขาดทุนในไตรมาส 3 ปีนี้ อยู่ที่ 1.61 พันล้านบาท ขาดทุนลดลงจากไตรมาส 3 ปีก่อนที่ 1.96 พันล้านบาท
การฟื้นฟูอีกแนวทางหนึ่งคือ แผนขยายเส้นทางบินต่างประเทศ ซึ่งหวังว่าจะช่วยให้การใช้ฝูงบินมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เดิมที NOK หวังพึ่ง ‘นกสกู๊ต’ สำหรับการขยายเส้นทางต่างประเทศ แต่ดูเหมือนว่าบริษัทจะรอไม่ได้อีกแล้ว เพราะเมื่อพิจารณาจากผลงานในอดีตที่ผ่านมา ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ติดลบอยู่กว่า 2.7 พันล้านบาท เกิดขึ้นมาจากบริษัทที่ NOK เข้าไปร่วมลงทุนถึง 2.1 พันล้านบาท ซึ่งก็รวมถึง นกสกู๊ต ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 49%
ทั้งนี้ เส้นทางบินต่างประเทศของ NOK ที่จะเพิ่มเข้ามาในระยะแรกคือ ญี่ปุ่น และจีน
โดยภาพรวมแล้ว โจทย์ใหญ่สำหรับกลุ่มจุฬางกูรหลังการเพิ่มทุนในครั้งที่จะถึงนี้ คือการเร่งพลิกฟื้นผลประกอบการกลับมาให้ได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งกรอบเวลาของคำว่า ‘เร่ง’ ในที่นี้ อาจจะไม่ได้ยาวนานไปกว่า 1 – 2 ปี เพราะก็อย่างที่เห็นกันมาแล้วว่า หากผลประกอบการยังไม่ดีขึ้น ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเพิ่มทุนกันอีกครั้ง หากเป็นเช่นนั้นแล้ว กลุ่มจุฬางกูรยังยินดีที่จะใส่เงินเพิ่มทุนเป็นรอบที่ 5 อีกหรือไม่