'เพื่อไทย' จ่อยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6-10 ม.ค. 63 พุ่งเป้า 4 รัฐมนตรี
"เฉลิม" ลั่น เตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 6-10 ม.ค. 63 มุ่งเป้า 4 รัฐมนตรี นำโดย "พล.อ.ประยุทธ์ - สมคิด - วิษณุ และ ดอน" พร้อมแย้มจะมีอีก 2 รัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 62 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวตั้งคณะกรรมการกิจการพิเศษขึ้นเพื่อดำเนินการเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า ส่วนตัวและคณะรวมกว่า 10 คน เป็นคณะกรรมการกิจการพิเศษอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค ซึ่งได้เริ่มทำงานตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ มองว่าหากให้เวลารัฐบาลชุดนี้ทำงานต่อไปนั้น จะทำให้บ้านเมืองประสบปัญหาทุกยาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงพิจารณาแล้วจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเหตุผล 4 ประการ คือ
1. เป็นรัฐบาลที่มีการทุจริต คอรัปชั่นมากที่สุด โดยอาศัย สภาฯ และ สนช. เป็นเครื่องมือ ซึ่ง สนช. ทั้งหลายกลายเป็นวุฒิสมาชิกในปัจจุบัน 2. รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ มีคนจนมากขึ้น ส่วนคนที่บอกว่าเศรษฐกิจดีมีเพียง 2 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 3. เป็นรัฐบาลที่บุคคลใดที่เห็นต่างทางการเมืองนั้นจะถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น นิสิต นักษาเห็นต่างก็ถูกทำร้าย 4. การแก้ไขปัญหายาเสพติดล้มเหลว ไม่เป็นระบบ และ 5. เปิดโอกาสให้คนในรัฐบาลทำผิดกฏหมาย อย่างการที่ นายวิษณุ เครืองาม บิดเบือนซื้อเวลาให้กับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ในปมที่ดิน ส.ป.ก. รวมไปถึงการให้อดีต กปปส. ที่มีคดีติดตัวมาเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง
เบื้องต้นมี 4 รายชื่อรัฐมนตรีที่จะมุ่งเป้าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 3. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ 4. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้เตรียมคนอภิปรายไว้แล้ว แต่ส่วนตัวเสียดายไม่ได้อภิปรายด้วยตนเอง
ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ฝากคำถามไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ อีก 6 ข้อได้แก่ 1. ถามถึงกรณีที่รัฐบาลยกที่ดินยาสูบให้นายทุนไปทำอสังหาริมทรัพย์ และยังปรับภาษีทำให้บุหรี่แพงขึ้น คนหันไปนิยมบุหรี่นอก โรงงานยาสูบขาดทุนหลายพันล้าน 2. ให้กลุ่ม นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ต่อสัญญาเช่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แต่ทำไมไม่เปิดประมูล จะเป็นการเอื้อประโยชน์กันหรือไม่ 3. ให้ต่างชาติและนายทุนเช่าที่รัฐ 99 ปี ทั้งที่ประชาชนไม่เห็นด้วย 4. ดึงโครงการ ทางด่วนรามอินทรา- อาจณรงค์ และบางนา-ชลบุรี เข้ากองทุน Thailand future fund เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนหรือไม่ 5. มีการนำข้าวดี แต่ถูกมองเป็นข้าวเสื่อมราคาในสายตารัฐบาล มาขายราคาถูกต่อกลุ่มนายทุน 6. กรณีที่ดิน บริษัท กฤษฎานคร แถวบางนา-ตราด ซึ่งมีราคาตารางวาละ 12,000 บาท พอมีการยึดทรัพย์และประเมินราคากลายเป็น 4,000 กว่าบาท โดยมีการแบ่งที่เป็น 2 แปลง คือแปลงที่ติดถนนประเมินว่าเป็นที่ที่ราคาแพง และแปลงที่ติดกันประเมินเป็นแปลงที่ราคาตาบอด จึงอยากทราบว่าเหตุใดรัฐบาลจึงปล่อยปละละเลยให้กรมบังคับคดีทำเช่นนี้
ส่วนการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจจะสามารถล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม ยอมรับว่า ล้มรัฐบาลได้ยาก แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ พร้อมยืนยันว่า คณะกรรมการกิจการพิเศษที่ตั้งขึ้นมานี้ จะทำหน้าที่ต่างจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค โดยจะทำหน้าที่เน้นเป็นเรื่องๆ ตามที่พรรคมอบหมายให้ ทั้งการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นจะยื่นประมาณวันที่ 6-10 ม.ค. 63 ตอนนี้เปิดรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายก่อน 4 คน ซึ่งจะมีอีก 2 คนตามมา คาดว่ารวมแล้ว 5-7 คน ยืนยันว่าเนื้อหาสาระมี และข้อมูลที่มีนั้นชัดเจน ส่วนการที่ไม่มีรายชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั้น เพราะได้รับการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ไปแล้ว ย้ำว่าเล่นการเมืองต้องทำตามกติกา และต้องเชื่อ ป.ป.ช.