'โรม' ย้ำกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา หลังคดี 'จ่านิว' ไม่คืบ
"โรม" อภิปรายกลางสภาฯ ย้ำกระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา หลังคดี "จ่านิว" ไม่คืบ เชื่อสังคมมอง "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" อยู่เบื้องหลัง
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 62 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาญัตติด่วน กลุ่มว่าด้วยขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อตรวจสอบ ศึกษา ติดตามการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกประทุษร้ายของประชาชน ซึ่ง ส.ส.เข้าชื่อเสนอจำนวน 8 ญัตติ ทั้งนี้ มีบางญัตติที่ถูกจัดกลุ่มรวมกันนั้น ขอให้ศึกษาต่อประเด็นนักกิจกรรมทางการเมืองถูกประทุษร้าย และการละเมิดสิทธิของผู้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ตอนหนึ่งของการนำเสนอญัตติ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งร่วมเสนอญัตติให้ตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีกรลอบประทุษร้ายนักกิจกรรมทางการเมือง อภิปรายว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา เพราะเหตุการลอบทำร้ายนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว โดยชายฉกรรจ์ ไม่สามารถจับกุมบุคคลก่อเหตุดำเนินคดีได้ โดยตนเชื่อว่าคดีดังกล่าวจะถูกดอง
อย่างไรก็ตามประชาชนในสังคมต้องการความปลอดภัย คู่กับการมีเสรีภาพต่อการแสดงออกทางการเมือง แต่เหตุการณ์ทำร้ายคนที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งแสดงออกว่าาต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอย่างชัดเจน ตนมีข้อสังเกตสำคัญคือ คนก่อเหตุเลือกกระทำบุคคลที่แสดงการต่อต้าน คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ชัดเจน
โดยบุคคลที่กระทำการจะปิดบังใบหน้า และมีบุคคลพาหลบหนี ทั้งนี้ทุกเหตุการณ์ประทุษร้าย 13 ครั้ง แจ้งความกับตำรวจทุกครั้ง แต่จับได้เพียง 2 คดี ซึ่งเกิดจากผู้ก่อการปฏิบัติการฉายเดี่ยว ไม่มีระบบ ซึ่งตนขอตั้งสังเกตว่าหากปฏิการอย่างเป็นระบบกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถจับกุมได้ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายากฯมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำร้ายนายสิรวิชญ์ใช่หรือไม่ ส่วนการนำเสนอเรื่องดังกล่าาวไม่ใช่เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้อกับคน 3 คน แต่เป็นปัญหาความยุติธรรมเป็นปัญหาระดับชาติ ท้องถิ่น และปาากซอย ที่เกิดขึ้นทั่วทุกแห่งของสังคม และเกิดขึ้นตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรก และการรัฐประหารครั้งแรก จนถึงรัฐประหารครั้งนี้
นายรังสิมันต์ อภิปรายแล้วเสร็จ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ทักท้วงต่อการอภิปรายผ่านประธานในที่ประชุม โดยขอให้อยู่ในกรอบตามเอกสารเสนอญัตติไม่ใช่การอภิปรายในลักษณะให้ความเห็นสนับสนุนญัตติ อีกทั้งการอภิปรายนำเสนอควรให้เป็นไปตามข้อบังคับ ทำให้นายศุภชัย โพธิสุ รองประธานสภาฯคนที่สอง ฐานะประธานที่ประชุม ชี้แจงว่า ตนต้องเปิดโอกาสให้ผู้สนับสนุนญัตติอภิปรายแทนผู้เสนอญัตติ คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ไม่เช่นนั้นจะถูกฝ่ายค้านมองว่าตนทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง อย่างไรก็ตามแนวทางที่นพ.ชลน่านระบุนั้นตนขอให้ยึดปฏิบัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะที่ญัตติอีก 7 ญัตติ ผู้เสนอได้อภิปรายโดยย้ำถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พบว่าประชาชนถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และมีกรณีการอุ้มหายหลายกรณี ทั้งนี้มีรายงานจากคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แจ้งว่าจะสนับสนุนให้ตั้งกมธ.ตามญัตติที่เสนอ เพราะมองว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องที่มีผลกระทบกับประชาชนกว้างขวาง และไม่ใช่เรื่องที่กระทบต่อรัฐบาลหรือ อดีตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)