รพ.พระนั่งเกล้า เปิดแล้ว 'คลินิกกัญชาทางการแพทย์' ทั้งแผนปัจจุบัน-แผนไทย
รพ.พระนั่งเกล้า เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและแผนไทย ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดจากกัญชา ให้บริการผู้ป่วยทุกวันจันทร์บ่าย
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ที่จังหวัดนนทบุรี นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิด “คลินิกกัญชาทางการแพทย์” โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ว่า กัญชาทางการแพทย์เป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในทางการแพทย์ เป็นการนำสิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่เป็นภูมิปัญญาไทยมาใช้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้พยายามทำให้การรักษาผู้ป่วยด้วยกัญชาถูกต้องตามกฎหมายทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือก ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์และสหวิชาชีพที่ผ่านการอบรมมาแล้ว
นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว จำนวน 117 แห่ง และแบบแผนไทย 24 แห่ง โดยแหล่งผลิตสารสกัดจากกัญชาจากองค์การเภสัชกรรม กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีจำนวนเพียงพอที่จะสนับสนุนคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยทุกกลุ่มโรค จะต้องผ่านการคัดกรองจากแพทย์ประจำคลินิกก่อนได้รับการรักษาให้คำแนะนำ และติดตามประเมินผลหลังได้รับสารสกัดกัญชาแก่ผู้ป่วยทุกราย
สำหรับโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบคู่ขนานทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย มีแพทย์ที่ผ่านการอบรม รวม 6 คน ทันตแพทย์ 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 4 คน และเภสัชกร 5 คน ให้บริการผู้ป่วย 9 กลุ่มโรค โดยแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบําบัด โรคลมชักที่รักษายาก ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาทที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็ง ส่วนแพทย์แผนไทยให้บริการผู้ป่วย เพื่อช่วยให้นอนหลับเจริญอาหาร ฟื้นฟูอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากโรคลม อัมพฤกษ์ อัมพาต บรรเทาอาการ ปวดตึงกล้ามเนื้อลดอาการมือเท้าชาหรืออ่อนกำลัง ทั้งนี้ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า มีผู้ป่วยระยะสุดท้าย อาทิ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ จำนวน 890 คน เกินครึ่งเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งคลินิกกัญชาจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยเปิดให้บริการทุกวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 13.00 น. – 16.30 น.
“แพทย์ผู้รักษาต้องมีความเข้าใจ มีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและประสิทธิผลของสารสกัดกัญชา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่จำเป็นต้องใช้ จากการประเมินผู้ที่ได้รับการรักษา พบว่าได้ผลร้อยละ 66 หากมีการนำไปใช้ในวงการได้ผลดี อาจจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การอุตสาหกรรมด้านอาหาร เกิดผลดีต่อเกษตรกร เป็นพืชทางเลือกในอนาคต” นพ.ประพนธ์ กล่าว