สนธิรัตน์ลงพื้นที่ภาคอีสาน โชว์ดันแผนโรงไฟฟ้าชุมชน

สนธิรัตน์ลงพื้นที่ภาคอีสาน โชว์ดันแผนโรงไฟฟ้าชุมชน

“สนธิรัตน์”ลุยภาคอีสานโชว์แผนผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชน หวังดึงศักยภาพสินค้าเกษตร- พลังชุมชนในพื้นที่หนุนแผนพลังงานชาติวางรากฐานเศรษฐกิจประเทศ

วานนี้ (19 ธ.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางลงพื้นที่ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานและความสำเร็จของศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง มีผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น มีเกษตรกรจาก 20 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมงานกว่า 1,000 คน

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายในการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน การลงพื้นที่ครั้งนี้จึงได้เอานโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน มาให้พี่น้องที่จังหวัดขอนแก่นและภาคอีสานหลายจังหวัดพร้อม ๆ กัน เพราะว่ากระแสโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นที่สนใจ

เนื่องจากชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง จะได้ขายวัตถุดิบที่เป็นพืชพลังงาน หรือเศษวัสดุเหลือใช้จากทางการเกษตร ให้กับโรงไฟฟ้าชุมชน และยังมีส่วนในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า หากอยู่บริเวณรัศมีโรงไฟฟ้า จะมีค่าไฟที่ถูกลง โครงการนี้เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง เช่นการแก้หนี้ หรือการไปเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน จะเป็นแกนหลัก ซึ่งการพิจารณาการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน บนความพร้อมของพี่น้องประชาชน

สำหรับพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน อยากให้เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีปัญหา เช่น มีน้ำน้อย ปลูกพืชการเกษตรไม่ได้ ถ้าพื้นที่เหล่านั้นมาปลูกไผ่ ปลูกกระถิน หญ้าเนเปียร์ ซึ่งใช้น้ำไม่มาก จะพิจารณากรณีแรก ๆ ยกตัวอย่างเช่น ตรงไหนมีปัญหาเรื่องน้ำ ได้รับเลือกตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน และอาจนำเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำจากเงินกองทุนอนุรักษ์เข้าไปสร้างแหล่งน้ำ เป็นแผนบูรณาการที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชน ที่ไปตั้งโรงไฟฟ้า

โครงการนี้มีเป้าหมาย เป็นโครงการพัฒนาที่สำคัญ คือ มีการทำสัญญา หรือพันธะสัญญา ทางการเกษตรระยะยาว 20 ปี เพื่อรับซื้อพืชพลังงาน ทั้งไผ่ กระถินณรงค์หรือ

หญ้าเนเปียร์ สามารถสร้างรายได้ต่อเนื่่องที่สำคัญโรงไฟฟ้าชุมชน คนในชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เพราะออกแบบมาเพื่อให้เจ้าของพื้นที่เป็นหุ้นส่วน 10-30%

“โครงการนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดเองในที่ประชุม ครม. โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อประชาชน เพื่อชุมชน กำชับผมในฐานะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงที่สุด ประชาชนต้องมีชีวิตดีขึ้น ”

สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ปริมาณไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (MW) เป็นโรงไฟฟ้าประเภท Non Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ จะเปิดรับซื้อในปี 2563 ปริมาณ 700 MW และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าแบบ Quick Win คือโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้แล้วเสร็จ ไฟฟ้าจะเข้าระบบภายในปี 2563 ส่วนโครงการทั่วไป เข้าระบบปี 2564 เป็นต้นไป

ส่วนรูปแบบการร่วมทุน จะมีกลุ่มผู้เสนอโครงการ ซึ่งอาจเป็นภาคเอกชนเข้าร่วมกับองค์กรภาครัฐก็ได้ จะถือในสัดส่วน 60 - 90% และอีกกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน (สมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) ถือในสัดส่วน 10 - 40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40%) โดยส่วนแบ่งรายได้ จะให้กองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้นๆ โดย หากเป็น โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน)

ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 25 สต.ต่อหน่วย และกรณีเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไฮบริด ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 50 สต.ต่อหน่วย ส่วนราคารับซื้อก็อยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 3 – 5 บาทต่อหน่วยตามแต่ละประเภทเชื้อเพลิงกระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นรูปธรรมลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน ตัวอย่างเช่น ห้องเย็น เครื่องจักรแปรรูปการเกษตร เป็นต้น