กองทุนหมู่บ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
นับเป็นข่าวดีของประชาชนระดับรากหญ้า กับโครงการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แต่หากจะดีกว่าถ้ามีการดึงรัฐวิสาหกิจชั้นดี เข้ามาร่วมดูแล
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่าให้มีการจัดทำระเบียบหลักเกณฑ์ เพื่อนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติงบประมาณ เป็นไปตามผลมาจาก ครม.ได้เห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นับเป็นข่าวดีของประชาชนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ก่อนหน้านี้ ครม.อนุมัติเงินให้กับกองทุนหมู่บ้าน 79,255 กองทุนทั่วประเทศ แห่งละ 200,000 บาท วงเงินรวม 1.5 หมื่นล้านบาท การวางหลักเกณฑ์ในการอนุมัติให้กับกองทุนหมู่บ้าน การสนับสนุนเงินทุนในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดเล็กในชุมชน และใช้แรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ หรือกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่ชุมชนเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น คาดว่าจะสามารถอนุมัติโครงการที่ชุมชนเสนอมาเพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ภายในเดือน มิ.ย.2563
นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะเข้ามาสนับสนุนเงินนอกเหนือวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลจะอนุมัติให้กับกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ โดย ธ.ก.ส.เปิดโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนการลงทุนของชุมชนโครงการสร้างอาชีพ ฝึกอบรม รวมไปถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพียง 0.01% ต่อปีเป็นระยะเวลา 3 ปี เราเห็นว่าการอัดฉีดงบประมาณลงไปสู่ชุมชนระดับล่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรน่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด
อย่างไรก็ดี หากจะดีกว่านี้ถ้ามีการดึงรัฐวิสาหกิจชั้นดี หรือรัฐวิสาหกิจด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) หรือการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เข้าไปร่วมดูแล เป็นการเสริมความเข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐ เราเห็นว่าการดำเนินนโยบายกองทุนหมู่บ้านเพียงลำพังอาจจะยังไม่เพียงพอ หากเป็นยุทธศาสตร์ชาติจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกกระทรวง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ กระทรวงพลังงาน โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มอบหมายนโยบายในโอกาสที่ปตท.แต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ซีอีโอ) คนใหม่ โดยสั่งการให้ซีอีโอของ ปตท. เป็นกลไกหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก อย่างโครงการไทยเด็ดและโครงการปุ๋ยสั่งตัดที่ดำเนินการอยู่ ต้องทำต่อเนื่อง
ยังมีบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศที่ต้องการคืนกำไรสู่สังคม รัฐบาลต้องรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบก่อนมีมาตรการลดหย่อนให้ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมมือ เพื่อจูงใจให้เข้ามามีบทบาท ไม่ว่าด้านเงินทุนสนับสนุน การช่วยเพิ่มความรู้ แก่ชุมชน เพื่อให้สมาชิกในกองทุนหมูบ้านสามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองในที่สุด เพื่อให้การใช้จ่ายด้านงบประมาณของรัฐบาลในอนาคตลดลงหรือไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป