ภาคประชาชนตั้งคำถามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าเขื่อนหลวงพระบาง

ภาคประชาชนตั้งคำถามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าเขื่อนหลวงพระบาง

วอนรัฐปกป้องสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการที่จะก่อผลกระทบข้ามพรมแดน

"เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง" ซึ่งเป็นเครือข่ายชาวบ้าน ประชาชน นักวิชาการ ที่ติดตามปัญหาและผลกระทบของการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขง ได้แสดงกังวลว่า กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งที่ 5 บนแม่น้ำโขงตอนล่าง จะยิ่งทำให้เกิดการรับรองการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงแห่งใหม่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัญหาและผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว เช่น เขื่อนไซยะบุรี และ เขื่อนดอนสะโฮง ยังไม่มีแนวทางการแก้ไข และมาตรการลดผลกระทบข้ามพรมแดนที่ชัดเจน ทั้งจากภาครัฐและเจ้าของโครงการ

ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการเตรียมจัดเวทีให้ข้อมูลกรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ตามกระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 ในประเทศไทย ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดนครพนมในวันพรุ่งนี้

โดยตัวแทนเครือข่ายฯ ได้กล่าวในแถลงการณ์วันนี้ว่า ที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้ส่งหนังสือแสดงความห่วงใยถึงหน่วยงานรัฐของไทยต่อการดำเนินโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ส่งหนังสือตอบกลับมายังเครือข่ายตอนหนึ่งระบุว่า โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักทั้ง 4 เขื่อน เป็นโครงการที่อยู่ในการก่อสร้างของสปป.ลาว จึงมิใช่โครงการของรัฐ ที่จะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนด 

เครือข่ายฯ ที่ติดตามกระบวนการมาตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี นับตั้งแต่เขื่อนแรก ไซยะบุรีสร้าง เห็นว่า การจัดเวทีปรึกษาหารือฯ ที่ผ่านมา ถือเป็นกระบวนการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และเป็นเพียงตรายางในการรับรองให้โครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ได้ใส่ใจต่อข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุว่า กระบวนการปรึกษาแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้า หรือ PNPCA เป็นกระบวนการที่ให้ประเทศสมาชิกแม่น้ำโขง 4 ประเทศ ได้ปรึกษาหารือ ประเมินผลกระทบและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการการดังกล่าว ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงเพื่อ "แสวงหาข้อสรุปร่วมกัน" "ไม่ใช่กระบวนการอนุมัติ/ยับยั้งโครงการ"

เครือข่ายฯ เห็นว่า หลักการดังกล่าว ยิ่งตอกย้ำว่ากระบวนการ PNPCA ไม่สามารถสร้างกลไกที่จะรับฟังเสียง การป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง ซึ่งสามารถเห็นได้จากกรณีโครงการเขื่อนไซยะบุรี

การจัดเวทีการปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA ทั้ง 4 โครงการเอง เครือข่ายฯ เห็นว่า ไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบทั้งหมด ทำให้การรับทราบข้อมูลของประชาชนไม่ทั่วถึง ยกตัวอย่างกรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง จะมีการจัดเวทีเพียง 3 ครั้ง ในจังหวัดนครพนม เลย และอุบลราชธานี แต่ไม่มีการจัดในเขตจังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ใกล้กับเขื่อนหลวงพระบางมากที่สุด ทำให้ประชาชนไทยในเขตดังกล่าวไม่ได้รับรู้ข้อมูล และไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อโครงการได้

นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ตั้งคำถาม จะไม่มีหน่วยงานจากประเทศเจ้าของโครงการมาชี้แจงหรือตอบคำถาม ทำให้เมื่อผู้เข้าร่วมเวทีมีคำถามต่อโครงการมากมาย ผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถให้ข้อมูลที่ครอบคลุมและถูกต้องแก่ผู้เข้าร่วมเวทีได้

ในทางกลับกัน ข้อคิดเห็นของประประชาชนกลับไม่ได้ถูกรับรองหรือนำไปสู่กระบวนการตัดสินใจการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงแต่อย่างใด

ในช่วงเวลาที่เขื่อนไซยะบุรีเริ่มส่งผลกระทบท้ายน้ำอย่างมีนัยยะในเวลานี้ เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงขอเสนอว่า รัฐควรจะต้องดำเนินการปกป้องคุ้มครองประชาชน บนฐานของสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน และการป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะชุมชนที่อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนและผลกระทบของโครงการในระยะยาว แม้จะไม่ใช่โครงการของรัฐบาลไทยโดยตรง แต่รัฐบาลไทยก็ถือเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ของโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงตามแผนทั้งหมด

รัฐบาลไทยควรจะพิจาณาทางเลือกพลังงาน เช่น การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ฯลฯ เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานและเน้นการกระจายอำนาจและการจัดการด้านพลังงานในประเทศ


"เพราะแม่น้ำโขง คือแม่ของพวกเราทั้ง 6 ประเทศ" เครือข่ายฯ ระบุ