ต้องเร่งแก้ 'บาทแข็ง' ประคองเศรษฐกิจไทย
เมื่อเงินบาทแข็งค่า จนทำให้ไทยกลายเป็นเซฟเฮเว่นของเหล่านักลงทุน แต่คำถามคือ เราควรปลาบปลื้มกับค่าเงินบาทที่แข็งโป๊กนี้หรือไม่? แล้วปล่อยให้การส่งออกและเศรษฐกิจชะลอตัว
อย่างที่รู้กันว่า เศรษฐกิจไทย (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี) พึ่งพารายได้จากการส่งออกมากถึง 70% ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ย่อมฉุดรายได้จากการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกไทย ในเดือน พ.ย.ปีนี้ ในรูปของเงินดอลลาร์ พบว่า มีมูลค่า 19,657 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.4% ขณะที่ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 227,090 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
ยิ่งเมื่อรายงานมูลค่าการส่งออกไทย ในรูปของ "เงินบาท" จะพบ "การติดลบ" ที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลจาก "ค่าเงินบาท" ที่แข็งค่าในรอบ 6 ปี ทำให้รายได้จากการส่งออกส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลดอลลาร์ เมื่อแปลงมาเป็นบาทจึงมีมูลค่าลดลง โดยในเดือน พ.ย. มีมูลค่า 589,983 ล้านบาท ติดลบสูงถึง 14.2% ขณะที่ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 7,054,237 ล้านบาท ติดลบ 5.6% กดดันเศรษฐกิจไทยหนักข้อขึ้นไปอีก
หลังจากก่อนหน้านี้ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.6% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.7-3.2% โดยประเมินว่าส่งออกไทยในปีนี้จะติดลบราว 2% จากผลกระทบสงครามการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท ขณะที่ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทยังคงส่งผลไปถึงการลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวลงจากเดิมที่ขยายตัว 4 -5% มาอยู่ที่ 2.8%
จะเห็นได้ว่า ตราบใดที่ไทยยังพึ่งพารายได้จากนอกประเทศเป็นส่วนใหญ่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ย่อมหนีไม่พ้น "ความเสี่ยง" ต่อความผันผวนของเศรษฐกิจไทยอย่างยากจะควบคุม ขณะที่สินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าพื้นฐาน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่อ้างอิงราคาตลาดโลก ทำให้เกิดการแข่งขันรุนแรง เหล่านี้สะท้อนว่า ประเทศไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ต้องเร่งแก้ไข
โดยวรรคทองที่ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการสัมมนา Thailand Economic Outlook 2020 อนาคตเศรษฐกิจไทย จัดขึ้นวานนี้ (23ธ.ค.) ว่า "แทนที่เราจะถกกันว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะเผาจริงเผาหลอก เราควรเปลี่ยนมาถกกันว่า จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร" เป็นเรื่องที่ถูกต้องเป็นแน่แท้
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาดำเนินการ จะเห็นว่าหลายรัฐบาลพูดเรื่องนี้มานานแล้ว แต่เป็นเรื่องที่แก้ยาก และต้องใช้พละกำลังความร่วมมือจากหลากภาคส่วนอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการลดการพึ่งพาการส่งออก โดยการเคลื่อนเศรษฐกิจจากความเข้มแข็งภายใน จากเศรษฐกิจฐานราก หรือแม้แต่การปรับโครงสร้างสินค้าส่งออกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดการแข่งขันที่รุนแรง ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำได้ง่ายนัก
ดังนั้น "ตัวแปร" ที่เห็นว่าจะพอประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ในปีหน้าต่อไปได้ เห็นทีอาจต้องมองกลับไปที่ หาการหนทางทำให้ "ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง" กว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ ในเมื่อเราไม่อาจปฏิเสธว่าต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นรายได้หลักในการเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยทำงานสอดประสานกันทั้งนโยบายการเงิน การคลัง ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง อาทิ สร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะตอนนี้หลายคนเริ่มถามดังขึ้นว่า ไทยเป็นเซฟเฮเว่น (Safe Haven) หรือหลุมหลบภัยทางการเงิน แล้วบาทแข็งโป๊ก เป็นเรื่องที่ควรปลาบปลื้มไหม?