Green Pulse I Circular Economy, ทบทวนเพื่อก้าวไปข้างหน้า
รายงานสถานการณ์ขยะพลาสติกล่าสุดจากองค์กรเยอรมันอย่าง Heinrich Boll Stiftung (HBF) ที่ระบุว่าตั้งแต่พลาสติกเกิดขึ้นมาในโลกในช่วงทศวรรษที่ 1950 จนถึงปัจจุบัน มีการผลิตพลาสติกกว่า 9,200 ล้านตัน โดยพลาสติกเหล่านี้ถูกนำไปรีไซเคิลได้เพียงสิบกว่าเปอเซ็นต์
ในขณะที่ทุกๆปี พลาสติกกว่าสิบล้านตันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเล เกิดเป็นวิกฤติมลพิษใหม่ของโลก ตอกย้ำปัญหาที่เกิดจากการบริโภคและระบบผลิตแบบ “ใช้แล้วทิ้ง” หรือ Take-Make-Dispose ที่เป็นระบบเศรษฐกิจแบบ “เส้นตรง” ที่ดำเนินมาอย่างช้านาน จนเป็นที่รับรู้กันทั่วโลกในเวลานี้
จากวิกฤติมลพิษที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามแสวงหารูปแบบการบริโภคและระบบการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจใหม่ที่จะสร้างมลภาวะให้สิ่งแวดล้อมน้อยลง และมันกลายมาเป็นโจทย์ของระบบเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้จะยังไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างจริงจังจนสามารถกลายเป็นกระแสหลักของโลกได้ในเวลานี้ แต่ก็เป็นที่คาดการณ์ว่า ในอนาคต เส้นทางสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” จะเป็นเส้นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากโลกไม่ต้องการพบกับหายนะอันเกิดจากการพังทะลายของสิ่งแวดล้อมและสังคมในอนาคต
เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2010 หรือประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้รับการขานรับจากประชาคมโลกมากกว่า ส่วนหนึ่ง เนื่องมาจากความเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้มากกว่า โดยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ถูกอธิบายจากสำนักแนวคิดเศรษฐศาสตร์มากมายหลายสำนัก รวมทั้ง World Business Council for Sustainable Development (WBCSD)
ปีเตอร์ บากเกอร์ (Peter Bakker) ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร WBCSDได้กล่าวว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้อง “ปฏิวัติโมเดลธุรกิจ” จากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเส้นตรง หรือ Linear Economy “ผลิต ใช้ทิ้ง ขายได้กำไร” มาสู่ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” Circular Economy โดยการนำเอาทรัพยากรที่ใช้แล้วมาผลิตใช้ใหม่
จากรายงาน CEO Guide to the Circular Economy ของ WBCSD ระบุว่า มีวัสดุหรือกิจกรรมทั้งหมด 8 ชนิด ที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเร่งด่วน ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม พลาสติก แก้ว ซีเมนต์ ไม้ พืช และปศุสัตว์ เพราะจะช่วยให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการด้วยนวัตกรรมที่สามารถใช้ทรัพยากรได้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้องค์กรลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรและมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงหนุนให้ภาคธุรกิจทั่วโลกเติบโตได้ถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030
นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลงอย่างน้อยร้อยละ 20, ลดการใช้น้ำ ร้อยละ 95, และลดการใช้ที่ดินร้อยละ 88 ซึ่งรายงานที่ถูกนำมาอ้างอิงโดยองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD)ของไทยนี้ ระบุว่า การดำเนินธุรกิจด้วย Circular
Economy มีผลโดยตรงต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals, SDGs) ให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
“จึงอาจกล่าวได้ว่าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นระบบการผลิตที่ไม่มีของเสีย เนื่องจากของเสียของธุรกิจหนึ่งจะสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบต้นทางของอีกธุรกิจเสมอ ซึ่งการ Reuse-Recycle จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจนี้” องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสรุป
ทิศทางของโลก
แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนถูกนำมาประยุกต์ใช้กับระบบเศรษฐกิจในประเทศแถบยุโรปอย่างจริงจังเป็นที่แรกๆ
จากแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดความยั่งยืน คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ในปี 2012ได้ตีพิมพ์เอกสาร Manifesto for a Resource Efficient Europe ซึ่งกล่าวถึงความสำคัญของการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินเศรษฐกิจให้มีความหมุนเวียน ก่อนที่จะมีการทำนโยบาย ยุทธศาตร์ และกฎหมาย ที่ถูกพัฒนาในปีต่อๆ มาจนกลายมาเป็นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย European environmental research and innovation policy ในปี 2013,แผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน “Towards a Circular Economy: a Zero Waste Programme for Europe” ในปี 2014, “Industry 2020 in the Circular Economy” ในปี 2015 และข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนCircular Economy Package เป็นครั้งแรก ซึ่งให้ความสำคัญกับสองภาคส่วนคือ การจัดการของเสียภายหลังการบริโภค และการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design)
และในปี 2018 ที่ผ่านมา, สหภาพยุโรป (EU) ก็ได้ประกาศใช้ “2018 Circular Economy Action Package”ซึ่งครอบคลุมเป้าหมายและนโยบายในการลดขยะพลาสติก การลดการฝังกลบขยะ และเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล ส่งผลให้ภาคธุรกิจหันมาใช้นโยบายดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนวงจรของธุรกิจ อาทิ ยาง Michelin ที่คาดว่าจะน่าเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ร้อยละ 100ในปี 2048 นอกเหนือไปจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ โดยให้ลูกค้าบางกลุ่มเช่น สายการบิน เช่าใช้ยางและนำมาซ่อมบำรุงได้เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวออกไปได้
ในระดับโลกเอง, การประชุมประจำปีล่าสุดของ World Economic Forum ได้โฟกัสไปที่ประเด็น การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 (Fourth Industrial Revolution) จะสามารถเอื้อไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไร หลังจากมีความร่วมมือในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CEO led Project Mainstream initiative, public-private Platform for Accelerating the Circular Economy (PACE) ที่ริเริ่มในปี 2017, และล่าสุดกับScale 360 initiative ที่เน้นการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนให้เร็วขึ้น (fast-tracking) ด้วยนวตกรรมและนโยบายที่ “smart” ซึ่ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประเทศแรกที่ได้เซ็นเป็นรัฐภาคีประเทศแรกที่จะลองเริ่มโปรเจคนี้
บริบทของไทย
สำหรับประเทศไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระบุว่า ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนเช่นกัน โดยรัฐบาลมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจนำแนวคิดดังกล่าวมาปรับประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจ และที่สำคัญคือ มีการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDG) เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production) ขององค์การสหประชาชาติด้วย
รัฐบาลเอง โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อเร็วๆนี้ เริ่มมีการขยับตัวมากขึ้น โดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายเร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยตามนโยบายรัฐบาล
ในขณะที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างก็ขยับตัวเพื่อขานรับนโยบายและทิศทางของโลกไม่ว่าจะเป็น หอการค้าไทยที่มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือสภาอุตสาหกรรมที่เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อปรึกษาประเด็นข้อกฎหมายและนโยบายสิ่งแวดล้อมที่จะเกื้อหนุนแนวคิดดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อท้าทายในการผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างหนักแน่นจริงจัง โดยนักวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก รวมทั้งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือฝ่ายเศรษฐกิจและศูนย์ข้อมูลหอการค้าไทย ที่ระบุว่า ความตระหนักในเรื่องดังกล่าวในกลุ่มประชาชนทั่วไปยังมีค่อนข้างน้อย โดยส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และยากที่จะเป็นไปได้
ในขณะเดียวกันการให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ รวมถึงไทยก็มุ่งเน้นไปที่ การเติบโตทางเศรษฐกิจและ GDP, นักวิจัยของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุ
นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการลงทุนเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยในการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน รวมถึงคำถามที่กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ ถึงกระบวนการผลิตที่สะอาดและใช้ทรัพยากรที่น้อยลง ที่ยังถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าด้าน reuse และ recycle
ภาพ/ กรีนพีซ
กราฟฟิค/ ทช.