“มิวซิกมูฟ” ฝ่าดิสรัปธุรกิจเพลง ต่อยอดศิลปินดันรายได้
อุตสาหกรรมเพลงในประเทศมีมูลค่าหลักพันล้านบาท การเปลี่ยนแปลงในตลาดเกิดขึ้นต่อเนื่องเฉกเช่นอุตสาหกรรมอื่น ที่สำคัญกระแส “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ที่ถาโถมธุรกิจไม่หยุดยั้ง วงการเพลงก็โดนหางเลขไม่ต่างจากธุรกิจอื่น
กว่า 15 ปี บนเส้นทางธุรกิจดนตรี ดนุภพ กมล ผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท มิวซิกมูฟ จำกัด ฉายภาพอดีตโดยย่อของอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทยผ่านยุค Physical ทั้งเทป ที่นักรัองดังทำเพลงฮิตจนยอดขายดี “ล้านตลับ” ก่อนจะขยับไปสู่ยุคซีดี MP3 ส่วนเทรนด์เพลงฮิตในยุคก่อนหน้านี้หนีไม่พ้นกระแสหลักหรือ Main Stream อย่าง เพลงป๊อป ร็อค ที่สำคัญธุรกิจเป็นเกม “ช้างชนช้าง” (อาร์เอส แกรมมี่ คีตา) มีศิลปินระดับตำนาน ตัวท็อปในสังกัดมากมาย ส่วนกลยุทธ์การทำตลาดแข่งกันโปรโมทผ่านสื่อหลักทีวี
ทว่า ปัจจุบันธุรกิจเพลงพลิกโฉมจากอดีตมาก พลังของดิจิทัล กำเนิดแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์มากมาย ตลอดจนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ให้ “ศิลปิน” หน้าใหม่ และศิลปินไร้สังกัดหรืออิสระ มีเวทีแจ้งเกิด ผลิตเพลงให้กลุ่มเป้าหมายได้ฟังออนไลน์หรือสตรีมมิ่ง ตลอดจนการสื่อสารกับแฟนๆได้โดยตรงผ่านเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม ส่วน “ค่ายเพลง” ทำหน้าที่เป็นตัวเสริมให้ศิลปินเพื่อต่อยอดทำรายได้ สร้างการเติบโตหรือ win win ร่วมกัน
ทั้งนี้ ปี 2562 ยังเป็นปีสตรีมมิ่งตบเท้าเข้ามาบุกตลาดไทยเต็มตัว โดยในเวทีโลกมีแพลตฟอร์มใด ประเทศไทยมีครบไม่ต่างกันทั้ง แอปเปิลมิวสิค(Apple Music) จูกซ์(Joox) สปอติไฟท์(Spotify) ยูทิวบ์ พรีเมียม (Youtube Premium) ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ ดนุภพ วิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจเพลงปีหน้าจะเป็นยุคทองของศิลปินทางเลือก
“ปี 2563 จะปีแห่งศิลปินทางเลือก นิยามของศิลปินทางเลือกของผู้บริโภคคือศิลปินอินดี้ ที่มีแนวทาง การทำเพลงเป็นของตัวเอง แตกต่าง และศิลปินจะโปรโมทตัวเองผ่านโซเชียลเดีย”
แล้วมิวซิกมูฟ จะขับเคลื่อนธุรกิจเพลงไปทิศทางไหน ? ในวงการเพลง มิวซิกมูฟ เป็นค่ายดนตรีน้องใหม่ แต่ในวงการการธุรกิจและคนทำเพลง ที่นี่เต็มไปด้วยนักธุรกิจ นักแต่งเพลง นักดนตรีระดับ “ตำนาน” เพียบ! และมี “วุฒินันต์ ภิรมย์ภักดี” กุมบังเหียน ส่วนภาพรวมองค์กร นี่คือค่ายเพลงที่อยู่ใต้อาณาจักร “บุญรอดบริวเวอรี่” เบอร์ 1 เบียร์ไทย และอยู่ใต้เงาธุรกิจอื่นๆ จาก 5 เสาหลัก(Pillars) ของกลุ่ม
เดิมมิวซิกมูฟ คือ “สหภาพดนตรี” แต่ 3 ปีก่อนได้ “รีแบรนด์” ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์อุตสาหกรรมมากขึ้น ด้านโครงสร้างค่ายเพลงมี 3 ค่ายย่อย ได้แก่ มิวซิกมูฟ(Muzik move) เน้นศิลปินและทำเพลงเมนสตรีม ตอบโจทย์กลุ่มคนฟังวงกว้าง(Mass) เป็นผู้ใหญ่ วัยทำงาน ส่วนมีเรคคอร์ดส(Me Records)มีความเป็นร็อก ส่วนบ็อกซ์ มิวสิค(Boxx Music)จะค่อนข้างอินดี้ ศิลปินและแนวเพลงฉีกความต่างออกไป ซึ่งทั้งบริษัทมีศิลปินในเครือราว 40 เบอร์ ตั้งแต่ระดับตำนาน เช่น วงซีล, ซิลลี่ ฟูล, ฮิวโก้ ระดับกลาง วงอีทีซี, สงกรานต์, เอ๊ะ จิรากร, ซีซั่นไฟฟ์, พอส และเพลย์กราวด์ เป็นต้น เพื่อจับกลุ่มคนฟังในทุกเซ็กเมนต์ ขณะที่แนวทางการทำเพลงขึ้นกับลายมือของ “ขุนพล” ของแต่ละค่าย
ศิลปินคือ สินทรัพย์ชั้นดี เพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัท จึงต้อง “รักษา” ไว้ด้วย “จุดแข็ง” 3 ประการ ได้แก่ 1.การบริการจัดการศิลปิน คอยดูแลงานจ้าง งานแสดงให้ทั่วประเทศ 2.โชว์บิสและกิจกรรมการแสดงต่างๆ เช่น คอนเสิร์ตขนาดเล็กคนดู 1,000-2,000 คน กลาง 4,000-5,000 คน และขนาดใหญ่ระดับยึดอิมแพ็คอารีน่าแสดง แต่ละปีวางแผนให้มีงานอย่างน้อย 1 งานต่อเดือน และ3.ธุรกิจเพลง จากการดาวน์โหลด ขายผ่านสตรีมมิ่งต่างๆ
“วันนี้ธุรกิจเพลงเผชิญความท้าทายรอบด้าน โจทย์ยากสุดยกให้การทำเพลงให้แฟนของศิลปินยอมรับ รักษาความแข็งแรงไว้ ท่ามกลางปริมาณเพลงที่ออกมามากมายและเพลง ศิลปินมีเซ็กเมนต์ยิบย่อยมากขึ้น ขณะที่โชว์บิส ต้องรับมือกับคอนเสิร์ตทั้งไทย-เทศที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์จากผู้จัดหน้าเก่า-ใหม่ เสนอตัวเป็น ทางเลือกให้ผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ในการขับเคลื่อนธุรกิจ เราให้น้ำหนักกับการลงทุนทำเพลงอย่างมาก เพราะเป็นต้นน้ำทำให้ศิลปินมีผลงานออกสู่ตลาดเสิร์ฟผู้ฟังผ่านสื่อแพลตฟอร์มต่างๆ แล้วนำไปต่อยอดงานจ้าง งานแสดง ตลอดจนคอนเสิร์ต”
สำหรับภาพรวมรายได้ปีนี้อยู่ที่ 300 ล้านบาท เติบโต 35% สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ระดับ 20-30% โดยสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจเพลงโตรายได้15% โตทรงตัว โชว์บิส 35% โต 100% และบริหารจัดการศิลปิน 50%เติบโต 30%