ฎีกาสั่งจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา 'เบญจา' พร้อมพวก4คน เอื้อ 'โอ๊ค-เอม' คดีเลี่ยงภาษี
ศาลฎีกาพิพากษายืน สั่งจำคุก "เบญจา" อดีตรมช.คลัง และพวก 4 คน รายละ 2 ปีไม่รอลงอาญา ชี้พฤติการณ์ร้ายแรง ระดับมันสมองสรรพากร วินิจฉัยเปิดช่องช่วย ญาติกอดให้กำลังใจก่อนเข้าเรือนจำรับโทษ
ที่ห้องพิจารณาคดี 703 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี เมื่อเวลา 10.30 น. ศาลนัดอ่านฎีกา คดีหมายเลขดำ อท.43/2558 ที่คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร , น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย , น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีตผอ.สำนักกฎหมาย , นายกริช วิปุลานุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยานายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ตามฟ้องเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.58
ระบุพฤติการณ์สรุปว่า จำเลยที่ 1-4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของกรมสรรพากร ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ บุตรชายคนโต และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรสาวคนที่ 2 ของนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากรหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควร โดยชอบด้วยกฎหมาย จากการที่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด เมื่อปี 2549 คนละ 164,600,000 หุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นละ 49.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีของส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งการกระทำนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย จำเลยทั้งหมดสู้คดี ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
ขณะที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.ค.59 พิพากษาว่า นางเบญจา อดีต รมช.คลังและอะีต รอง อธ.สรรพากร , น.ส.จำรัส , น.ส.โมรีรัตน์ และนายกริช อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตาม ป.อ.มาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ส่วน น.ส.ปราณี คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตาม ป.อ.มาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 ให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมดแล้ว ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ ต่อมาจำเลยที่ 1-5 ยื่นอุทธรณ์คดี และได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ซึ่งศาลตีราคาประกันคนละ 300,000 บาทโดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ ขณะที่คดีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เมื่อวันที่ 19 ต.ค.60 ซึ่งเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนั้นชอบแล้ว โดยสภาพความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำที่ไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายและความน่าเชื่อถือในการจัดเก็บภาษีอากรของประเทศชาติ พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ส่วนที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าเรื่องนี้ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้เกิดความเสียหายแก่รัฐโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษายึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว และศาลภาษีอากรกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีของกรมสรรพากรไปแล้วนั้นจะนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลรอการลงโทษไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าที่ไม่รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน จำคุกจำเลยที่ 1-4 คนละ 3 ปี และจำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา
ต่อมา จำเลยทั้งหมดยื่นฎีกาสู้คดี พร้อมขอให้พิจารณาลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญา โดยระหว่างฎีกาจำเลยทั้งหมด ได้ประกันตัวคนละ 500,000 บาท โดยศาลฎีกากำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยทั้งหมดเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล และยังให้จำเลยทั้งหมดนำหนังสือเดินทางมามอบต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ โดยให้ศาลอาญาคดีทุจริตฯ แจ้งไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)ให้ทราบด้วย ซึ่งวันนี้ทั้งหมดเดินทางมาพร้อมฟังคำพิพากษาฎีกา โดยมีครอบครัวและญาติสนิท มาร่วมให้กำลังใจกว่า 30 คน
โดย "ศาลฎีกา" ตรวจสำนวน และประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1-4 ในการ ตอบข้อหารือประเมินภาษี การซื้อขายหุ้น ชินคอร์ปฯ ระหว่างแอมเพิลลิส กับนายพานทองแท้ และนส.พินทองทา ให้กับจำเลยที่ 5 รับทราบนั้นแอบแฝงเจตนา ที่จะช่วยให้ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่ต้องแจ้งรายได้ที่เป็นส่วนต่างการซื้อขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าทุน ซึ่งมีมูลค่า 15,883,900,000 บาท ซึ่งแนวการตอบข้อหารือนั้นก็ไม่ตรงกับข้อหารือที่กรมสรรพากร เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นบางประการไว้ อีกทั้งยังฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งถามข้อหารือมายังกรมสรรพากรก็เป็นการวางแผนที่เตรียมไว้ในการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ปฯ ให้กับกลุ่มเทมาเส็ก ประเทศสิงค์โปร์ ที่ศาลฏีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยวินิจฉัยว่า เจ้าของหุ้นที่แท้จริง คือนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจำเลยที่ 1-4 เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ระดับสูง เคยวินิจฉัย ข้อกฎหมายต่าง ๆ มา และถือเป็นมันสมองของกรมสรรพากร
ขณะที่จำเลยที่ 5 ก็เคย ทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีและตรวจสอบการประเมินภาษี จึงย่อมรู้ดีว่าการมีหนังสือถามข้อหารือดังกล่าว นายพานทองแท้และน.ส.พิณทองทา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ในการยื่นแบบรายได้ประเมินภาษีได้ และหากมีคดีความเกิดขึ้น ทั้งอาญาหรือแพ่งก็สามารถนำหนังสือตอบข้อหารือนี้ไปใช้อ้างเพื่อเป็นประโยชน์ได้ ขณะที่ข้อสงสัยในการประเมินภาษี ลักษณะดังกล่าวยังไม่เคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิดนั้น ศาลฏีกา เห็นพ้องด้วยในผลส่วนที่จำเลยทั้ง 5 ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอลงอาญานั้น
ศาลฏีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 5 คน ตามที่วินิจฉัยมาถือว่ามีพฤติการณ์ร้ายแรง จึงไม่สมควร ให้รอการลงโทษแต่ เมื่อพิเคราะห์จากคำให้การของตำเลยที่ 1-4 แล้ว เห็นว่า ยังมีประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้คนละ 1 ใน 3 คงเหลือ ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำคุก จำเลยที่ 1-4 คนละ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 5 คงจำคุกไว้ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศหลังศาลฎีกา พิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ว่า จำเลยทั้งหมดมีสีหน้าเคร่งขรึม และเสียใจ โดยญาติได้รีบเข้าไปโอบกอดให้กำลังใจ จำเลยบางคนพยายามกลั้นน้ำตาและกล่าวขอบคุณเสียงเครือ ขณะที่จำเลยที่ 5 ที่มีอายุมากและมีอาการป่วย ญาติก็แสดงความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งได้มีการนำยารักษาโรคประจำตัวมาให้ด้วย ก่อนเตรียมส่งตัวเข้าเรือนจำ ซึ่งในส่วนของจำเลยผู้ชาย จะถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วรจำเลยผู้หญิง จะเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มญาติก็ได้มีการพูดคุยกับจำเลย โดยแสดงห่วงใย พร้อมกับบอกว่าจะติดตามไปเยี่ยมถึงเรือนจำด้วย