15 ปี คลื่นซัดกระหน่ำเศรษฐกิจไทย

15 ปี คลื่นซัดกระหน่ำเศรษฐกิจไทย

ส่อง 15 ปี หลังไทยโดนสึนามิ มิติทางเศรษฐกิจไทยโดนคลื่นการเปลี่ยนแปลงอะไรกระทบบ้าง?

นับเป็นเวลากว่า 15 ปี คลื่นยักษ์สึนามิภัยธรรมชาติร้ายที่ซัดกลืนชีวิตผู้คนไปอย่างไม่หวนกลับ โศกนาฏกรรมครั้งนั้นยังฝังรอยแผลเป็นภายในจิตใจอย่างไม่ลืมเลือน เช่นเดียวกับเรื่องราวด้านเศรษฐกิจของประเทศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ฝากฝังร่องรอยของความบอบช้ำจากเหตุการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่ปรากฏมาถึงปัจจุบัน

  • ปี 2547

หากเริ่มต้นจากปี 2547 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินว่า จีดีพีไทยยังอยู่ในเกณฑ์สูง 6.3% แต่ก็ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 7.2% คงต้องบอกเลยว่า เป็นอีกหนึ่งปีที่ปัจจัยลบถาโถมเข้ามาอย่างไม่ยั้ง ทั้งโรคระบาดไข้หวัดนก แพร่กระจายในสัตว์ปีกทั่วทุกภูมิภาค กระทบต่อเกษตรกรโดยตรง เนื่องจากต้องกำจัดสัตว์ปีกที่ติดเชื้อทิ้งไป รวมถึงเงินทุนที่มลายหายไปด้วย ความรุนแรงยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเชื้อนี้สามารถกระจายสู่คน แน่นอนว่ากระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งประเทศ เทรนด์การบริโภคสัตว์ปีก แปรเปลี่ยนไปส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมหมูที่กระเตื้องขึ้นมา

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซาร์ส (SARS) โรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก นักท่องเที่ยวต่างชาติระมัดระวังการเดินทางเข้ามาในไทย ปิดท้ายสิ้นปีจากเหตุภัยธรรมชาติที่ไม่คาดคิด “สึนามิ สร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล มีผู้คนเสียชีวิตหลายพันคน สูญหายอีกนับไม่ถ้วน

ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ก็ปะทุขึ้นมา ด้วยกลุ่มผู้ก่อเหตุโจมตีจุดตั้งฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ และเกิดการปะทะกัน ยิ่งปะทุความรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกจากการที่ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น กล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่ม "โจรกระจอก" และพวกขี้ยา ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่พอใจและลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน

 

  • ปี 2548-2549

สถานการณ์ความขัดแย้งไม่เพียงแต่ในภาคใต้เท่านั้น พอเริ่มต้นปี 2548 ความไม่พอใจของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ถึงการทำงานของรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ก็ก่อรูปก่อร่างเป็นม็อบออกมาประท้วง ห้ำหั่นวาทะขับไล่นายกรัฐมนตรีเรื่อยมา จนกระทั่งต้องประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ประกอบสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่สูงขึ้น ความไม่สงบในภาคใต้ก็ยังอยู่ ส่งผลให้จีดีพีลดลงเหลือ 4.2%

เรื่องราวการเมืองดูจะไม่จบสิ้นจนเกิดการรัฐประหารครั้งแรกในรอบ 15 ปี นับจากปีก่อนหน้านั้น ส่งผลให้ในปี 2549 ไทยมีรัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร แม้จะมีความสงบเกิดขึ้น จีดีพีประเทศขยับขึ้นมานิดหน่อยเป็น 5.0% แต่แอบแฝงไปด้วยความอึมครึม ในช่วงนี้ก็มีกลุ่มที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

  

  • ปี 2550-2551

ในปี 2550 สถานการณ์การเมืองยังไม่สู้ดีนัก เพราะแม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับจากกลุ่มเคลื่อนไหว มองว่าพรรคการเมืองที่ได้เป็นกลุ่มก้อนที่ได้ประโยชน์จากอดีตนายกรัฐมนตรีคนก่อน ซึ่งยังคงมีการชุมชนต่อเนื่อง และยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก

ทั้งการใช้ทำเนียบรัฐบาลเป็นฐานการชุมนุม มีการปิดล้อมสนามบินทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติทั้งสองแห่ง ทำให้การบินต้องชะงัก สร้างความเสียหายทางด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

รวมระยะเวลาชุมนุมกว่า 6 เดือน ทำให้ปี 2551 จีดีพีไทยตกลงไปอยู่ที่ 1.7% แม้จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลุ่ม นปช.ก็ไม่เห็นด้วยเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

  157736495236

   

  • ปี 2552-2553

ทำให้การเมืองยังคงลากยาวมาถึงปี 2552 จีดีพีต่ำลงไปอีก -0.7% ขณะที่กลุ่ม นปช.ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง สร้างความขัดแย้งรุนแรงขึ้น สถานที่ที่ใช้ชุมนุมอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ โดยเฉพาะโซนเศรษฐกิจหลักอย่างแยกราชประสงค์ รัฐบาลขณะนั้นเลือกวิธีการแก้ปัญหาด้วยการสลายการชุมนุม เกิดการสูญเสียเกิดขึ้น มีผู้คนเสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย

แม้จะมีมูฟเมนท์ด้านธุรกิจโทรคมนาคมที่พัฒนาขึ้นมาช่วย คงเรียกได้ว่าเป็นการดิสรัปชั่นอย่างหนึ่งก็ได้ ปีนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบ 2G เป็น 3G แม้จะมีปัญหาติดขัดอยู่บ้างระหว่างภาครัฐกับเอกชน แต่สุดท้ายแล้วหากใครไปได้เร็วกว่าก็ถือเป็นความได้เปรียบทางธุรกิจ การแข่งขันที่เกิดขึ้น นับเป็นผลดีกับผู้บริโภคที่จะได้รับเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้

แต่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ กลับดูเลวร้ายลงไปอีก เพราะในช่วงปลายปี 2553 ประเทศไทยก็ต้องพบกับปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมครั้งใหญ่ แทบจะทั่วทั้งประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่เหล่านิคมอุตสาหกรรมในอยุธยาและปทุมธานีต้องจมน้ำ เบื้องต้นมีการประเมินว่าความเสียหายสูงถึง 2.4 แสนล้านบาท ยังรวมถึงความเสียหายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคม 2.4 แสนล้านบาทด้วย พื้นที่เกษตรกรรมอีก 11.4 ล้านไร่ ก็ไม่พ้น ภาคการผลิตต้องรับผลกระทบนี้ไปเต็มๆ รัฐบาลพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย ทำให้จีดีพีโตขึ้นเป็น 7.5%

  

  • ปี 2554-2555

แล้วมวลน้ำก้อนใหญ่นี้ยังไหลต่อมาลงที่ใจกลางเมืองหลวง เกิดเป็น "มหาอุทกภัย" หลายจุดในกรุงเทพฯ ต้องจมน้ำ หลายแห่งระดับสูงเกิน 1 เมตร การสัญจรไม่เพียงแต่ทางถนนเท่านั้น ยังรวมถึงทางอากาศ กลายเป็นอัมพาตไประยะหนึ่ง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล ทำให้ปี 2554 จีดีพีไทยตกรูดลงมาเหลือ 0.8% ขณะที่เศรษฐกิจโลกเองก็ชะลอตัวลงเช่นกัน ซึ่งก็เป็นไปตามการชะลอตัวของประเทศอุตสาหกรรม โดยเฉพาะสหรัฐที่การขยายตัวยังคงเปราะบาง ด้าน กนง. มีมติทั้งคงและปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึงสองครั้ง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี ช่วงปลายปี 2555 เศรษฐกิจไทยเริ่มกระเตื้อง เกิดจากการใช้จ่ายสินค้าเพื่อทดแทนในส่วนที่เสียหายจากอุทกภัย รวมถึงการลงทุนเพื่อป้องกันการเสียหายหากมีอุทกภัยเกิดขึ้นอีก อีกทั้งการลงทุนยังคงเกิดขึ้นตามแผนเดิมของเอกชน เกิดการจ้างงาน อีกทั้งการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ และมีมาตรการสินเชื่อที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ที่สำคัญหากใครจำได้ ปีนี้มีเรื่องที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ โดยเริ่มนำร่องก่อน 7 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและสะท้อนไปถึงรายได้รวมของประเทศ ด้านผู้ประกอบการเองต่างพูดถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หลายรายจึงเริ่มหันไปมองเครื่องจักรเพื่อมาทดแทนแรงงานคน แต่ก็ยังไม่กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่กลับทำให้ปีนี้จีดีพีพุ่งสูงไปถึง 7.2%

  

  • 2556-2557

ในช่วงปี 2556 GDP ไทยขยายตัวอยู่ที่ 2.7% และลดลงมาอยู่ที่ 1.0% ในปี 2557 โดยภายใต้การเปลี่ยนแปลงตัวเลขของ GDP ล้วนมีส่วนมากจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่กระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งในมิติทางการเมือง ต่างประเทศ เทคโนโลยี ฯลฯ

หนึ่งในมิติทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น คือการชุมนุมทางการเมืองของการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" หรือ กปปสนำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งแต่วันที่ 31 ..2556 เพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ภาคเอกชนในช่วงนั้น กังวลว่าสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวม แต่มีส่วนกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า ทำให้อาจไปหาสินค้าหรือตลาดสำรองไว้

แม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบคุณภาพและราคาแล้วจะต่ำกว่าสินค้าไทยเพื่อเตรียมเผื่อไว้หากผู้ส่งออกไทยไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ ขณะเดียวกันการชุมชนที่เกี่ยวโยงกันมาหลายมียังกระทบต่อความเชื่อมั่นในทางท่องเที่ยวไทยบางส่วนที่สะท้อนผ่านตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลงในช่วงปี 2557

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ลืมไม่ได้ และกระทบต่อมิติทางเศรษฐกิจไม่น้อยคือ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 . เกิด “การรัฐประหารครั้งที่ 13 ขึ้นในประวัติศาสตร์ไทย โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แม้จะมีหลายฝ่ายมองว่าการรัฐประหารช่วยให้บ้านเมืองสงบ แต่ในสายตายของหลายประเทศมองว่าไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ในมิติทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยครง และถือเป็นคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ นั่นคือการที่ “ไทยถูกปรับลดอันดับไปอยู่ใน Tier 3 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (US’s Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของสหรัฐฯ” เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 โดยกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเหลืองเตือนไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไทยไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU Fishing ที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล โดยประเด็นที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษคือ การทำประมงโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย และปัญหาการใช้แรงงานทาส แม้การได้รับใบเหลืองจาก EU ในครั้งนั้นจะไม่ทำให้ไทยถูกระงับการนำเข้าอาหารทะเล แต่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศโดยตรง และทำให้การส่งออกอาหารทะเลไทยอยู่ในกรอบจำกัดพักหนึ่ง

นอกจากนี้ในช่วงปี 2556 มีห้วงเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงแวดวงโทรทัศน์ในไทยครั้งใหญ่ นั่นคือ “การเริ่มประมูลทีวีดิจิทัล และการเริ่มเปิดใช้ชีวิตดิจิทัล 24 ช่องอย่างเป็นทางการในประเทศไทย”

ซึ่งนับเป็นช่วงที่มีส่วนกระตุ้นการจ้างงานในสายวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับด้านวิทยุโทรทัศน์ และสื่อมัลติมีเดียต่างๆ แต่เมื่อเวลา แม้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพใหญ่อย่างชัดเจนในเชิงตัวเลข แต่การเปลี่ยนแปลงของทีวีดิจิทัลสะท้อนว่าการดิสรัปชันทางเทคโนโลยี มีพลังมากกว่าหลายคนคาดคิด

 

  • 2558-2559

GDP ไทยปี 2558 อยู่ที่ 3.1% และขยับขึ้นเป็น 3.4% 2559 สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีการขยายแบบทรงตัวจากการใช้จ่ายในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นที่ทยอยฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี ยังมีเรื่อราวสะเทือนใจและสะเทือนภาคการท่องเที่ยวเกิดขึ้น นั่นคือ “เหตุการณ์ระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์กรุงเทพฯ”​ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม .. 2558 เวลา 18.55 . มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บอีกราว 130 คน ซึ่งส่งผลกระทบค่อนข้างชัดเจนต่อความเชื่อมั่นด้านการท่องเท่ียว เชื่อมโยงไปถึงเศรษฐกิจภาพรวม เนื่องจากเหตุการณ์ถูกตีแผ่ออกไปแทบทุกสื่อทั้งไทยและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเห็นการณ์นี้เข้ามาเป็นคลื่นซัดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะสั้น

ระหว่างที่มีเหตุการณ์ความวุ่นวาย คลื่นลูกใหญ่ไหลลึกอย่าง “Digital Disruption (ดิจิทัล ดิสรัปชัน)” หรือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ก็ค่อย มีส่วนในการเข้ามากระทบเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามีบทบาททางธุรกิจในมิติต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งแต่การช่วยลดแรงงานคน ลดต้นทุน ซึ่งช่วยให้ขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น แต่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไร้มือที่มีแนวโน้มตกงานเนื่องจากการแทนที่ของระบบ Automation ที่มากับ Digital Disruption ด้วย

   

  • 2560-2561

GDP ปี 2561 อยู่ที่ 4.1% ขยายตัวเล็กน้อยจาก 4.0% ในปี 2560 โดยเหตุการณ์สำคัญที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับเศรษฐกิจของไทยในช่วงนั้น ได้แก่ “Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัล” เทรนด์การดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามดิจิทัล ดิสรัปชัน ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันความต้องการของผู้บริโภค และการเปลี่ยนแปลงในโลกการแข่งขันในตลาดโลก เช่น การเข้ามาของ "สตาร์ทอัพ" หรือธุรกิจขนาดเล็กที่สร้างความเติบโตด้วยเทคโนโลยี ในภาคการเงินที่เรียกว่า FinTech (ฟินเทค) ทำให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ต้องยอมประกาศลดค่าธรรมเนียมสำหรับการทำธุรกรรมผ่าน e-Banking เพื่อดึงให้ผู้บริโภค มีความสะดวกในการใช้งาน และยังใช้บริการของธนาคารต่อไป

นอกจากเศรษฐกิจดิจิทัลแล้วยังมีเรื่องของ "Cyptocurrency (คริปโทเคอร์เรนซี) หรือสินทรัพย์ดิจิทัล" เริ่มแพร่หลายในกลุ่มนักลงทุนชาวไทย หลังเกิดปรากฏการณ์ Bitcoin (บิตคอยน์) สินทรัพย์ดิจิทัลหนึ่ง มีมูลค่าพุ่งเกินระดับ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ 1 เหรียญ หรือกว่า 480,000 บาท เป็นครั้งแรกในวันที่ 7 .. 2560 ทำให้ความสนใจลงทุนของผู้ที่รับความเสี่ยงสูงเข้ามาสนใจในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น

นอกจากมูลค่าที่ล่อตาล่อใจแล้วสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้ในการระดมทุนของกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เป็นอีกหนึ่งกำลังของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต แม้สินทรัพย์ดิจิทัลจะยังไม่ได้มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างชัดเจนในเรื่องตัวเลข เนื่องจากยังไม่สามารถลงทุนได้อย่างอิสระเนื่องจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองว่ามีความเสี่ยงที่สูงมาก ทำให้ยังมีกฎเกณฑ์กำกับที่ค่อนข้างจำกัด อย่างไรก็ตามความนิยมที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าในอนาคตการเทรนด์สกุลเงินดิจิทัลได้เริ่มมีบทบาทที่ชัดเจน และสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในระบบเศรษฐกิจของไทย

หนึ่งในประเด็นใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกจนถึงภาคธุรกิจ คือ “สงครามการค้า (Trade war)” จาก 2 ขั้วอำนาจใหญ่อย่าง "สหรัฐอเมริกา" และ "จีน" นับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี แห่งสหรัฐอเมริกา ในปี 2561

แม้การกีดกันทางการค้าจะไม่เกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรง แต่ในฐานะที่ไทยมีการส่งออกและนำเข้าร่วมกับทั้งจีนและสหรัฐ ทำให้ได้รับทั้งผลกระทบเป็นลูกโซ่ สะท้อนจากสถิติการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 มีค่าติดลบราว 2.7% และติดลบถึง 5.8% ในเดือนพฤษภาคม 2561 อย่างไรก็ดี ไทย ได้รับอานิสงค์ในทางอ้อมเนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตมาในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น

  

  • 2562

สำหรับปี 2562 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP ประเทศไทยขยายตัวถึงสิ้นปีที่ 2.5% พร้อมคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ขยายตัวเพิ่มเล็กน้อยที่ 2.8% ซึ่งในปี 2562 เป็นต้นมามีคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่มีเกี่ยวข้องมากมาย ที่เห็นได้ชัดเจน คือ

"การเลือกตั้งในรอบ 7 ปี" การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เป็นหนึ่งในความหวังด้านเศรษฐกิจของไทย อีกหนึ่งเหตุการณ์คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป วันที่ 24 มีนาคม 2562 นับเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังรัฐประหารเมื่อ 7 ปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งที่ได้รัฐบาลใหม่ ที่เป็นรัฐบาลเดิม (คสช.) มีส่วนช่วยให้การลงทุนภาครัฐที่หยุดชะงักช่วงรอรัฐบาลมีแนวโน้มเดินหน้าไปได้ดีในปีหน้า และหากการบริหารงานด้านเศรษฐกิจและมาตรการต่างๆ ทำได้อย่างมีเสถียรภาพในสายของประชาคมโลก อาจนำไปสู่ความเชื่อมั่นใจในการลงทุนและต่อเนื่องในการลงทุนต่อไป ที่ยังไม่ใช่ เวลานี้

คลื่นอีกลูกที่หลายฝ่ายต่างจับตาทั้งในปี 2562 และปีหน้า คือ "เงินบาทที่แข็งค่า" ตั้งแต่ช่วงต้นปี 62 ที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับ USD จากปัจจัยด้านต่างประเทศ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุม อาทิ เศรษฐกิจโลก สงครามการค้าเป็นสำคัญ ปัจจุบันอยู่ในระดับ 30.157 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าแข็งค่ากว่าประเทศในกลุ่มภูมิภาคเดียวกัน เงินบาทแข็งอาจมีผลดีต่อประชาชนในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ แต่มีผลเสียต่อภาคการส่งออก และอาจกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในประเทศหลายแง่มุม อย่างไรก็ตามไม่มีใครล่วงรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขที่สิ่งที่ผ่านมาได้ แต่การเรียนรู้อดีตที่ผ่านมาจะบทเรียนสำคัญ ที่ทำให้ผู้ที่นำบทเรียนเหล่านี้มาป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคต ทำให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้มากขึ้น