IMHเทรดวันแรกต่ำจอง21% ชี้ภาวะตลาดไม่เอื้อ
หุ้น "โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ” เปิดเทรดวันแรกหุ้นต่ำจอง 21% เหตุภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย ย้ำมั่นใจยังเป็นหุ้น Growth Stock พร้อมคาดกำไรปี 63 โตก้าวกระโดด หลังเร่งขยายฐานลูกค้าประกันสังคม-เพิ่มจุดบริการ
หุ้น บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยวานนี้(26ธ.ค.) เป็นวันแรก โดยราคาเปิดตลาดที่ 5.70 บาท ลดลงจากราคาจองซื้อ 0.30 บาท คิดเป็นการลดลง 5% โดยหุ้นเริ่มมีแรงขายออกมาอย่างหนักในช่วงการซื้อขายภาคบ่ายส่งผลให้ราคายิ่งปรับลดลงมากขึ้น ก่อนมาปิดตลาดที่ระดับ 4.72 บาท ลดลง 1.28 บาท คิดเป็น 21.33%
นายสิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH เปิดเผยว่า ราคาหุ้น IMH ที่ปรับตัวลดลงจากราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 6 บาทต่อหุ้นนั้น น่าจะเป็นผลพวงมาจากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวยเพราะเป็นช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับมูลค่าการซื้อขายในตลาดหุ้นที่อยู่ในระดับที่น้อยจึงทำให้ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามอยากให้นักลงทุนติดตามการดำเนินธุรกิจในระยะยาวและอยากให้เชื่อมั่นว่าหุ้น IMH ยังเป็นหุ้น Growth Stock
“สำหรับราคาเปิดเทรดวันแรกที่ 5.70 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือต่ำจอง 5% จากราคา IPO ที่ 6.00 บาท โดยส่วนตัวมองว่าเป็นไปตามภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากเป็นช่วงก่อนวันหยุดยาว ทำให้มีมูลค่าการซื้อขายค่อนข้างน้อย ซึ่งในระยะสั้นไม่มีความกังวลแต่อย่างใด”
ทั้งนี้สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 2563 บริษัทมั่นใจจะเติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งในส่วนของรายได้และกำไรสุทธิ เนื่องจากบริษัทมีการขยายฐานลูกค้าและการขยายจุดให้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยข้อมูลในปี 2561 พบว่าประเทศไทยมีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระบบเฉลี่ยประมาณ 11.30 ล้านราย ซึ่ง IMH ได้ลงนามในสัญญาแบ่งส่วนรายได้การตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลที่เป็นสมาชิกประกันสังคมแล้ว จึงจะเห็นได้ว่ายังมีโอกาสอีกสูงมากในอนาคตที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการในส่วนนี้ จากปัจจุบันที่ IMH มีฐานลูกค้าส่วนนี้ประมาณ 300,000 ราย
ขณะที่เงินที่ได้จากระดมทุนขาย IPO จำนวน 330 ล้านบาท บริษัทมีแผนจะใช้ในการปรับปรุงสาขาเดิม และขยายสาขาใหม่ จำนวน 30 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนจะขยายสาขาใหม่ในโซนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดรูปแบบของสาขาใหม่ รวมถึงจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์จำนวน 127 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ อีกทั้งจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ระดับ 0.86 เท่า ส่วนที่เหลือจำนวน 73 ล้านบาท บริษัทจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจในอนาคต