ป่าตองจัดรำลึก 15 ปี 'สึนามิ'
ชาวป่าตอง และนักท่องเที่ยวร่วมจุดเทียนรำลึกผู้จากไปจากเหตุการณ์สึนามิ ครบ 15 ปี พร้อมให้ความรู้เตรียมรับมือหากเกิดภัยพิบัติสึนามิเวลา 19.00 น.
บริเวณสวนสาธารณะโลมา หาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายพูนศักดิ์ นาคเสนา รองนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง เป็นประธานเปิดงาน รำลึกสินามิ 15 ปี สึนามิ ซึ่งทางเทศบาลเมืองป่าตองได้จัดขึ้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในพื้นที่ซึ่งเคยถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ส่งผลให้มีผู้คนเสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหายจำนวนมาก
โดยมีนายธานินทร์ อรรถทรัพย์ ประธานสภาเทศบาลเมืองป่าตอง, นางวิภา จันทร์ทอง ปลัดเทศบาลเมืองป่าตอง, คณะผู้บริหารฯ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองป่าตอง, ผู้นำชุมชน, พนักงานข้าราชการ, สถานศึกษา, นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ร่วมกิจกรรมสำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและสูญหายจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ เสริมสร้างความตระหนักรู้และการเตรียมความพร้อมของประชาชนในการรับมือภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ รวมถึงปลูกจิตสำนึกการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัย มีสติ และเข้าใจ ธรรมชาติมากขึ้น
ภายในงานประกอบด้วย การแสดงดนตรี ชมวิดีทัศน์การเตรียมความพร้อมรับมือกับสึนามิ พิธีวางดอกไม้ การจุดเทียนในหลุมทราย และยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัยรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและสูญหายจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ เป็นเวลา 89 วินาที ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบง่าย และยังคงมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบางคนไม่สามารถกลั่นน้ำตาไว้ได้
ทั้งนี้ เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นกับประชาชนตามชายฝั่งทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ถือเป็นธรณีพิบัติภัยครั้งใหญ่ รุนแรง และเฉียบพลัน โดยความสูญเสียดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้ จังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล มีชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหายเป็นจำนวนมาก ทรัพย์สินเสียหายประเมินค่าไม่ได้ ส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจ สังคม เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาธรณีวิทยา ภูมิทัศน์ และระบบนิเวศวิทยาแผ่กระจายในวงกว้าง สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก
เหตุการณ์ในครั้งนั้น ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องใช้เป็นบทเรียนเพื่อหลีกเลี่ยง มหันตภัยที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว และพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้มีความรู้ ความเข้าใจถึงกระบวนการ การเกิดภัยพิบัติและผลกระทบเหล่านี้อย่างละเอียด เพื่อหาวิธีลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป