ศาลสรุปตัวเลขคดี พ.ร.บ.จราจรทางบก 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่
"โฆษกศาลยุติธรรม" เผย 27 ธ.ค.วันแรกรับคดีขึ้นศาล 1,865 คดี ตัดสินเสร็จ 1,528 คดี เมาขับ 1,369 คน - ขับรถขณะเสพยา 257 คน-ขับรถไม่มีใบขับขี่ 224 คน ศาลแขวงเชียงใหม่ คดีเข้าสูงสุด 104 คดี
นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยสรุปรายงานข้อมูลสถิติคดีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ประจำวันที่ 27 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันแรก ของช่วงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.- 2 ม.ค.63 ว่า สถิติความผิด ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ของกลุ่มศาลอาญา , กลุ่มศาลจังหวัด , กลุ่มศาลแขวง จำนวนคดีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 นั้นมีคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณา ทั้งสิ้น 1,865 คดี โดยพิพากษาเสร็จแล้ว 1,528 คดี คิดเป็น 81.93% ขณะที่จังหวัด ซึ่งมีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ กทม.159 คดี , ชลบุรี 158 คดี , เชียงใหม่ 112 คดี , ระยอง 111 คดี , นครราชสีมา 86 คดี ส่วนศาลที่มีปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ศาลแขวงเชียงใหม่ 104 คดี , ศาลแขวงพัทยา 79 คดี , ศาลแขวงนนทบุรี 74 คดี , ศาลจังหวัดระยอง 64 คดี ศาลแขวงชลบุรี 62 คดี สำหรับข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ขับรถขณะเมาสุรา 1,369 คน , ขับรถขณะเสพยาเสพติด 257 คน ,ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต 224 คน
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สถิติความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ของกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว จำนวนคำร้องที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 14 คำร้อง โดยข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบการจับ คือขับรถขณะเมาสุรา 9 คน , ขับรถขณะเสพยาเสพติด 5 คน ขณะที่ผลการตรวจสอบการจับนั้นชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด 14 คน ไม่พบการจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ในส่วนของสถิติที่พบว่า พื้นที่ กทม.มีคดีสู่การพิจารณามากเป็นอันดับที่ 1 แต่ศาลที่มีคดีขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุดเป็นศาลแขวงเชียงใหม่นั้น ก็เนื่องจากในพื้นที่ กทม. จะประกอบด้วยศาลแขวงหลายแห่ง อาทิ ศาลแขวงพระนครเหนือ , ศาลแขวงดุสิต , ศาลแขวงพระโขนง , ศาลแขวงปทุมวัน , ศาลแขวงดอนเมือง , ศาลแขวงธนบุรี โดยคดีกระจายในศาลแขวงหลายแห่งนี้ ดังนั้นเมื่อรวบรวมสถิติคดีจากทุกศาลแขวงเฉพาะในพื้นที่ กทม. จึงพบว่ามีปริมาณคดีเข้าสู่ศาลสูงสุด แต่หากพิจารณาสถิติคดีโดยแยกเป็นศาลนั้นจะพบว่า ศาลแขวงเชียงใหม่ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพียงแห่งเดียวจะมีปริมาณคดีสู่การพิจารณาสูงสุดเป็นอันดับ 1