เตือนภัยเงียบ! 'โรคกระดูกพรุน' แพทย์แนะป้องกันหกล้ม 3 วิธี

เตือนภัยเงียบ! 'โรคกระดูกพรุน' แพทย์แนะป้องกันหกล้ม 3 วิธี

เสวนา "สูงวัยใส่ใจ ไม่ล้มไม่พรุน" และ "กิจกรรมประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม และโรคกระดูกพรุน" เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจกับเกี่ยวกับการป้องกันการหกล้ม และโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูก

มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และบริษัท แอมเจน (ประเทศไทย) จำกัด จัดเสวนา “สูงวัยใส่ใจ ไม่ล้มไม่พรุน” และ “กิจกรรมประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม และโรคกระดูกพรุน” เพื่อส่งเสริมความรู้และความเข้าใจกับเกี่ยวกับการป้องกันการหกล้ม และโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก

157760765969

ศ.ดร.นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “มูลนิธิฯ จึงจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อส่งเสริมความรู้ เรื่องโรคกระดูกพรุน ให้แก่ผู้สูงอายุเพื่อหันมาใส่ใจการป้องกัน ระมัดระวัง และดูแลตนเองไม่ให้หกล้ม เนื่องจากการหกล้มในผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะเกิดกระดูกหัก และมักเกิดการล้มซ้ำ นำมาซึ่งความทุพพลภาพ การสูญเสียคุณภาพชีวิตและค่าใช้จ่ายอันมหาศาล หรืออาจทำให้เสียชีวิต โดยเฉพาะการหกล้มในผู้สูงอายุที่มีโรคกระดูกพรุนร่วมด้วย เป็นอันตรายอย่างมาก เพราะการหกล้มเพียงเบาๆ สามารถทำให้กระดูกหักได้

โรคกระดูกพรุน คือ ภาวะที่ความแข็งแกร่งของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกมีความเปราะบาง และเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น โรคกระดูกพรุนจัดเป็น “ภัยเงียบ” เนื่องจากไม่มีอาการ ผู้ป่วยหลายรายทราบเมื่อเกิดกระดูกหักขึ้นแล้ว ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน หรือตรวจพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสม ” ศ.ดร.นพ.ทวี กล่าว

ศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ รองประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า “โรคกระดูกพรุนพบได้บ่อย และเป็น “ภัยเงียบ” ในสตรีวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากการขาดเอสโตรเจนของวัยหมดประจำเดือนทำให้มีการสลายมวลกระดูกมากขึ้น จนมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนตามมา โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลัง กระดูกข้อมือ และกระดูกสะโพก ดังนั้นแม้สตรีวัยหมดประจำเดือนจะไม่มีอาการของวัยทองใดใด ก็ควรพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน เพราะโรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ นอกจากนี้ถ้าตรวจพบโรคกระดูกพรุนตั้งแต่แรกๆ และได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะป้องกันกระดูกหักจากกระดูกพรุนได้”

ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “การหกล้มในผู้สูงอายุเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ กระดูกหรือกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง มีปัญหาการทรงตัว ปัญหาสายตา การกินยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้ง่วงซึม รวมทั้งสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการประเมินความเสี่ยงต่อการหกล้ม จะช่วยทำให้สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการหกล้มที่จะเกิดขึ้นได้

157760767921

การดูแลสุขภาพและประเมินปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองให้ได้นานที่สุด และสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ชะลอความเสื่อม และลดภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุต่อผู้อื่น ให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

โรคกระดูกพรุน

คือโรคของกระดูกที่มีความแข็งแกร่งของกระดูกลดลง ร่วมกับคุณภาพของกระดูกลดลงด้วย เป็นผลให้กระดูกมีความเปราะบาง เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น

โรคกระดูกพรุน เป็น “ภัยเงียบ” เนื่องจากไม่มีอาการ ผู้ป่วยหลายรายทราบเมื่อเกิดกระดูกหักขึ้นแล้ว ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีโอกาสเกิดกระดูกหักง่ายกว่าคนทั่วไป เพียงแค่มีการกระแทกเบาๆ การบิดเอี้ยวตัวอย่างทันทีทันใด ไอจาม หรือลื่นล้ม ทำให้กระดูกหักได้ง่าย ก่อให้เกิดความพิการหรือทุพพลภาพตามมา และคุณภาพชีวิตด้อยลงไป และส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพที่สูงขึ้น

157760771471

ตำแหน่งที่ทำให้เกิดกระดูกหักมากและบ่อยคือ กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ กระดูกซี่โครง กระดูกต้นแขน กระดูกสันหลัง ซึ่งอาการของการเกิดกระดูกหักมักสัมพันธ์กับการล้ม

วิธีการป้องกันการหกล้ม 3 วิธีคือ

1. แก้ไขปัจจัยภายใน ได้แก่การแก้ไขปัญหาการทรงตัวและกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยฝึกการทรงตัว ออกกำลังเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและฝึกเดิน แก้ไขความดันโลหิตต่ำ ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนท่าเร็วๆ หรือจากยาที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วง หน้ามืด เวียนศีรษะ หรือรบกวนการเคลื่อนไหวและการทรงตัว แก้ไขปัญหาการมองเห็น โดยเฉพาะโรคต้อกระจกที่มักพบในผู้สูงอายุแก้ไขปัญหาเท้าผิดรูป / แผลเรื้อรังของผู้สูงอายุ รวมทั้งการแก้ไขรองเท้าที่ใส่ให้เหมาะสม

157760773859

2. แก้ไขปัจจัยภายนอก โดยการปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม เช่น บริเวณในบ้านและนอกบ้านมีไฟส่องสว่างเพียงพอ บันไดมีราวจับและไฟส่องสว่าง ห้องน้ำ พื้นไม่ลื่น และมีราวจับ หรือมีเก้าอี้อาบน้ำ

3. การเพิ่มความแข็งแรง และมวลของกระดูก โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นมวัว ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว เป็นต้น รับแสงแดดวันละ 30 นาที การออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight bearing exercise) 30 นาที 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ และเพิ่มความแข็งแรงของข (Lower extremity strengthening)

“การป้องกันโรคกระดูกพรุน สามารถเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กได้ โดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม หมั่นออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ในผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน ควรมาพบแพทย์ ส่วนผู้ที่ตรวจพบแล้วว่าเป็นโรคกระดูกพรุน แนะนำให้พบแพทย์เพื่อที่แพทย์จะได้แนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยา และการปฎิบัติตัวที่เหมาะสม"