อย่าปล่อยให้ 'หุ้นไอพีโอ' ทำร้ายตลาดทุนไทย
เมื่อสถานการณ์หุ้นไอพีโอไม่ได้ดีเหมือนในอดีต มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่สามารถสร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำได้ จึงถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เป็นผลกระทบกับการระดมทุนของบริษัทขนาดเล็กในอนาคต หรือบ่อนทำลายตลาดทุนไทย
ในอดีตนักลงทุนที่ได้ "หุ้นไอพีโอ" หรือหุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก มักต้องมีพอร์ตลงทุนในระดับที่เรียกกันว่าเป็น "ขาใหญ่" เพราะโบรกเกอร์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (เอฟเอ) หรือผู้จัดการจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น (อันเดอร์ไรเตอร์) ในหุ้นไอพีโอเหล่านี้ มักจัดสรรหุ้นให้กับ "ลูกค้ารายใหญ่" ของบริษัทตัวเองก่อน ขณะที่นักลงทุนรายย่อย โดยเฉพาะรายละเอียดประเภทพอร์ตหลักหมื่นหรือหลักแสนบาท ถือเป็นคิวท้ายสุดที่ได้รับการจัดสรร แต่สถานการณ์ปัจจุบันนับว่าเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นักลงทุนรายย่อยมักได้รับเชิญให้จองซื้อหุ้นเหล่านี้ นั่นเพราะรายใหญ่ "ไม่เอา" เนื่องจากหุ้นไอพีโอในปัจจุบัน ไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้เหมือนในอดีต
จากการรวบรวมข้อมูลของทีมข่าว "กรุงเทพธุรกิจ" พบว่า การลงทุนในหุ้นไอพีโอเมื่อ 5 ปีก่อน สามารถสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะวันแรกที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในปี 2558 หุ้นไอพีโอที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และตลาดเอ็มเอไอ มีรวมทั้งสิ้น 33 บริษัท ในจำนวนนี้สามารถยืนเหนือราคาจองซื้อได้รวม 27 บริษัท สร้างผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงถึง 81.8% ขณะที่ในปี 2559 มีหุ้นไอพีโอรวม 23 บริษัท และสามารถยืนเหนือราคาจองซื้อได้ทั้งหมด
แต่ในปี 2560-2562 สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป โดยหุ้นที่เข้าซื้อขายในวันแรกแล้วราคาปิดบวกเริ่มค่อยๆ ลดลง ในปี 2560 มีหุ้นที่ปิดบวกวันแรกราว 31 บริษัท จากทั้งหมด 38 บริษัท คิดเป็น 81.5% ในปี 2561 มีหุ้นที่ปิดบวกวันแรก 10 บริษัท จากทั้งหมด 18 บริษัท คิดเป็น 55.5% และในปี 2562 มีหุ้นที่ปิดบวกวันแรก 16 บริษัท จากทั้งหมด 28 บริษัท คิดเป็น 57.1% แต่ปัญหาที่มากไปกว่านั้นคือ หลังจากที่เข้าจดทะเบียนได้ไม่นาน ราคาหุ้นเหล่านี้เริ่มค่อยๆ ลดลงจน "ต่ำกว่า" ราคาจองซื้อ
ข้อมูลเชิงสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีหุ้นไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดเอ็มเอไอ รวม 84 บริษัท (ไม่รวมกองทุน) ในจำนวนนี้มีเพียง 20 บริษัทเท่านั้นที่ราคาหุ้นปัจจุบัน "สูงกว่า" ราคาจองซื้อ หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 23.8% โดยหุ้นส่วนใหญ่ที่ราคาลดลงเป็นหุ้นที่เข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็มเอไอ และหากนับเฉพาะปี 2562 มีหุ้นไอพีโอรวมทั้งสิ้น 28 บริษัท ในจำนวนนี้มีเพียง 5 บริษัทเท่านั้นที่ราคาหุ้นปัจจุบันยืนเหนือราคาไอพีโอ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับ "หุ้นไอพีโอ" ในขณะนี้กำลัง "บ่อนทำลาย" ตลาดทุนไทยอย่างร้ายแรง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีใครที่อยากได้หุ้นไอพีโอ โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้ย้ำกับมาร์เก็ตติ้งที่ใช้บริการเลยว่า "เอาหุ้นไอพีโอมาให้ เท่ากับแช่ง" ดังนั้นหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตลาดหุ้นไทยพังแน่นอน เพราะบริษัทขนาดเล็กจะระดมทุนยากขึ้น เนื่องจากไม่มีนักลงทุนกล้าซื้อ โดยในปีนี้เริ่มมีให้เห็นแล้วที่ไอพีโอบางบริษัทเคาะราคาสูงลิ่วจนขายไม่หมด ต้องยกเลิกการขายตั้งราคากันใหม่ หรือหุ้นไอพีโอตัวล่าสุดของปี 2562 ที่เข้าซื้อขายวันแรกแต่ราคาร่วงต่ำกว่าราคาจองซื้อถึง 21%
...เราเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ "ทางการ" จะลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นตลาดทุนไทยพังแน่นอน