Tax Trend 2020 : จุดเริ่มต้นของยุค Digital Tax
เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลดิสรัปทุกสรรพสิ่ง ไม่เว้นแม้แต่การจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะปี 2020 ที่เทรนด์เก็บภาษีจะเข้าสู่ Digital Tax มาหาคำตอบกันว่าทำไมถึงจะต้องเปลี่ยนรูปแบบไป และในไทยจะปรับเปลี่ยนหรือไม่
ผู้เขียนเชื่อว่า trend การเก็บภาษีที่มาแรงและกำลังเป็นที่สนใจของ policymakers ทั่วโลกคงหนีไม่พ้น Digital Tax
ซึ่งผู้เขียนคาดการณ์ว่า Digital Tax จะเป็นภาษีที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดรายการหนึ่งในปี 2020
- ที่มาของ Digital Tax
ในโลกยุคดิจิทัลการค้าระหว่างประเทศที่อยู่ในรูปแบบของ การบริการ (Trade in services) ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ นั้น เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล จึงไม่น่าแปลกใจว่าบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติได้ลงทุนสร้างนวัตกรรมและระบบบริการดิจิทัลเพื่อเข้าไปให้บริการในอีกประเทศหนึ่งได้โดยง่าย อย่างไรก็ดี สำหรับภาครัฐ การจัดเก็บภาษีรายได้จากกิจกรรมดิจิทัลเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากผู้ซื้อเพียงแค่กดซื้อหรือรับบริการผ่านช่องทางออกไลน์ก็สามารถเข้าถึงสินค้า/บริการได้ทันทีโดยผู้ขาย/เว็บไซต์อาจอยู่นอกประเทศ ดังนั้นการตรวจสอบต่างๆ ตามหลักพิธีการนำเข้าสินค้าตามกฎหมายของกรมศุลกากรจึงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มี "สินค้าที่มีรูปร่าง" ปรากฏให้ตรวจสอบ ภาษีที่เก็บจากจุดนำเข้าจึงไม่มาสามารถประเมินได้
ดังนั้น โจทย์ของรัฐบาลทั่วโลกคือ "ทำอย่างไรที่จะเก็บภาษีจากการให้บริการดิจิทัลที่เกิดในประเทศของตนได้?"
- ทำไมต้อง Digital Tax?
หลายคนตั้งคำถามว่า ภาษีนิติบุคคลที่มีอยู่เดิมเก็บภาษีจากกิจกรรมดิจิทัลเหล่านี้ไม่ได้หรือ? คำอธิบาย มีอยู่ว่า ภาษีนิติบุคคลนั้นได้ถูกสร้างมาในยุคที่การดำเนินธุรกิจพึ่งพิงอยู่กับการต้องมีสถานที่และหน้าร้านในการดำเนินการ (Brick-and-Mortar) ซึ่งหากเรานึกถึงร้านค้าส่วนใหญ่ในสมัยก่อนมักมีสถานที่ให้ผู้ซื้อสามารถเข้าเลือกชมสินค้าได้ก่อนตัดสินใจซื้อ และหากพิจารณาหลักภาษีเงินได้ในธุรกรรมระหว่างประเทศ ยังได้มีการยอมรับหลักการในเรื่องสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment) ซึ่งประเทศจะจัดเก็บภาษีจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศของตนได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทต่างชาตินั้นมีการจัดตั้ง "สถานที่ที่ใช้ทำธุรกิจประจำ" เช่น สำนักงาน สาขา หรือโรงงานในประเทศของตนหรือไม่ ซึ่งหลักการดังกล่าว คือ การยอมรับการเข้ามาทำธุรกิจในลักษณะที่ยึดโยงกับสิ่งก่อสร้างในทางกายภาพ
ดังนั้น หากพิจารณาลักษณะและรูปแบบของธุรกิจในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า ธุรกิจสามารถดำเนิน ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านในแบบเดิม การทำธุรกิจในยุคดิจิทัลสามารถใช่ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสื่อกลางโดยผู้ให้บริการไม่จำเป็นต้องเข้ามาในประเทศที่รับบริการ และด้วยประโยชน์ของ Digital Platform การทำธุรกรรมข้ามประเทศจึงเป็นเรื่องง่ายที่ทำได้ 24 ชั่วโมง อันเป็นการตัดความจำเป็นในการมีร้านค้าในทางกายภาพ หรือหน้าร้านในแบบเดิมไป นั้นแปลว่าในสถานการณ์แบบนี้ภาษีนิติบุคคลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าไรนัก เพราะบริษัทข้ามชาติในปัจจุบันสามารถสร้าง Value จากธุรกรรมออนไลน์ได้โดยไม่ต้องมี Physical presence
- Digital Tax เก็บจากอะไร?
จากการศึกษาพบว่า Digital Taxมักจัดเก็บจากการดำเนินธุรกิจหรือกิจกรรมที่สร้างรายได้ในลักษณะต่าง ๆ ที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เช่น
1) การขายสินค้า/บริการแบบดิจิทัลซึ่งเป็นลักษณะของการขายสินค้า/บริการในทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างและถูกสร้างขึ้นมาโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่นdownloaded software, applications รวมถึงสินค้าดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น e-books, digital movie, หรือ audio flies เป็นต้น 2) ผู้ให้บริการเดิมอาจเคยอยู่ในรูปแบบกายภาพ แต่ได้ปรับเปลี่ยนการให้บริการมาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ หรืออาจเป็นผู้ให้บริการที่ให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ เช่น บริษัทเทคโนโลยีที่ให้บริการ Social media หรือ Online content provider เป็นต้น
3) ในบางประเทศ Digital Tax ยังเก็บจากการที่บริษัทได้ทำการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน หรือการทำ profiling ช้อมูลบนอินเทอร์เน็ต เพื่อนำไปใช้ในทางการตลาดหรือการโฆษณาอีกด้วย (เพราะถือว่าเป็นการสร้างรายได้)
- ฝรั่งเศส อังกฤษและมาเลเซียเริ่มเก็บ 2020
แม้แนวคิดในการสร้างระบบ Digital Tax ร่วมกันของ EU จะยังหาข้อสรุปที่ลงตัวไม่ได้แต่ฝรั่งเศสก็ได้เปิดตัวแซงหน้าโดยการออกกฎหมาย Digital Services Tax และให้มีผลย้อยหลังไปในวันที่ 1 ม.ค.2562 โดยจะจัดเก็บในอัตรา 3% จากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติที่มีรายได้ทั่วโลกรวมมากกว่า 750 ล้านยูโร และมีรายได้จากการให้บริการดิจิทัลในฝรั่งเศสมากกว่า 250 ล้านยูโร ซึ่งฝรั่งเศสตั้งใจจะใช้กฎหมายฉบับนี้ไปจนกว่าที่ประชุม EU จะมีข้อตกลงร่วมกันในการจัดเก็บ Digital tax ได้ และแน่นอนว่านี่คือที่มาของการขึ้นกำแพงภาษีตอบโต้จากสหรัฐ ประเทศต้นกำเนิดของ Tech Giants รายใหญ่ของโลก ซึ่งในประเด็นนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า "Tech Giants มีต้นกำเนิดและฐานธุรกิจหลักในสหรัฐ ย่อมสมควรต้องเสียภาษีให้สหรัฐไม่ใช่ประเทศอื่น"
นอกจากนี้ อังกฤษและมาเลเซียก็จะเริ่มจัดเก็บ Digital tax เช่นกัน โดยในอังกฤษได้มีการร่างกฎหมาย Digital Services Tax เพื่อจัดเก็บภาษีในเดือนเม.ษ.63 ในอัตรา 2% กับบริษัทที่มีรายได้รวมทั่วโลกจากการให้บริการดิจิทัลมากกว่า 500 ล้านปอนด์ และมากกว่า 25 ล้านปอนด์ในอังกฤษ ประกอบกับอังกฤษยังได้มีแนวทางในการปรับปรุงหลักกฎหมายเรื่อง Profit tax rules และปรับนิยาม "สถานประกอบการถาวร" เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจแบบดิจิทัลโดยเฉพาะอีกด้วย เช่นเดียวกันในมาเลเซีย ได้มีการประกาศใช้ Sale and Services Tax ที่จะจัดเก็บภาษีในอัตรา 6% จากการให้บริการดิจิทัลในประเทศ ดังนั้น platform ดิจิทัลต่างๆ ในมาเลเซียเช่น facebookหรือ Netflix มีหน้าที่บวกค่าบริการเพิ่มขึ้นอีก 6% เพื่อนำส่งภาษีให้กับรัฐบาล
- สำหรับประเทศไทย
ครม. ได้เคยอนุมัติหลักการแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศ (e-Business) เมื่อปลายปี 61 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บ VAT จากผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศและให้บริการผ่าน Digital Platformกับลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทย โดยกฎหมาย มุ่งจะเก็บ VAT จากการให้บริการรวมถึงธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ที่มีการเก็บ Service fees ในประเทศไทย
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกอยู่ในยุค Internet-based Economy ดังนั้น พลวัตการขับเคลื่อนจึงเป็นเรื่องของ Digital-base business เป็นหลักe-Commerce, e-Payment, และ Digital Assets จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่จะต้องพัฒนาควบคู่กันไปตามยุคสมัยในมุมของรัฐก็คงหนีไม่พ้น Digital Tax... ซึ่งกำลังจะเริ่มต้นแล้วเร็วๆ นี้
[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]