5 ธุรกิจฝ่า 'เทคโนโลยีดิสรัป' พลิกเกมรอดสู่ 'นิวบิซิเนส'

5 ธุรกิจฝ่า 'เทคโนโลยีดิสรัป' พลิกเกมรอดสู่ 'นิวบิซิเนส'

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นอกจากจะสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจรายเล็ก “ท้าชก” บริษัทขนาดใหญ่ ที่สำคัญมีโอกาสชนะหากไอเดียถูกจริตผู้บริโภคยุคดิจทัล เหนือข้อจำกัดเรื่องทุนหนา และเครือข่ายธุรกิจปึ้ก ซึ่งเป็นกุญแจความสำเร็จในอดีต

ทว่า สำหรับธุรกิจดั้งเดิมแล้ว การปรับตัวบนน่านน้ำเทคโนโลยีปั่นป่วน(Disrupt)นั้นไม่ง่าย “ภูมิทัศน์ทางธุรกิจ”ที่เปลี่ยนไป นอกจากจะแข่งกับธุรกิจเดียวกันเองแล้ว ยังมีแนวโน้มจะแข่งกับธุรกิจอื่นที่เคลื่อนมาแข่งสู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นหลังอิง ทำให้ธุรกิจดั้งเดิมต้องเร่งปรับตัว โดย“กรุงเทพธุรกิจ” ประมวล 5 ธุรกิจที่ถูกดิสรัปหนักในรอบปีที่ผ่านมา และกำลังเร่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจรอดอย่างหนักหน่วงในปี 2563 สู่ “นิวบิซิเนส” 

สื่อขี่คลื่นออนไลน์รอด 

“ธุรกิจสื่อ”ถือเป็นเซ็กเตอร์ที่หายใจรวยรินและสุ่มเสี่ยง“ไม่รอด”ท่ามกลางการดิจิทัล ดิสรัปชั่น โดยปี 2562 ที่ผ่านมา สื่อทีวีดิจิทัล สื่อสิ่งพิมพ์ วงการเพลงฯ กระเทือนหมด อย่างทีวีดิจิทัล เกิดมาพร้อมกับสื่อออนไลน์หลากแพลตฟอร์ม ชิงสายตาคนดู(Eyeball) และเม็ดเงินโฆษณาไปอย่างต่อเนื่อง ที่สุดแล้ว ผู้ประกอบการทีวีหลายราย “ขาดทุนบักโกรก” กระทั่งประกาศของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)ใช้มาตรา 44 เปิดทางให้คืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล(ไลเซ่นส์) 7 ช่องไม่รีรอขอลาที เปลี่ยนแพลตฟอร์มเสพคอนเทนท์ทีวีสู่ออนไลน์

ขณะที่ “สื่อสิ่งพิมพ์” ปีที่ผ่านมายังปิดตัว“ลาแผง”ต่อเนื่อง ได้แก่ M2F พิมพ์ฉบับสุดท้ายถึงวันที่ 8 มี.ค. 2562 หนังสือพิมพ์ “โพสต์ทูเดย์”(Post Today) พิมพ์ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2562 นิตยสารวัยรุ่นอย่าง Hamburger ซึ่งแจกฟรีทุกวันพุธ พิมพ์ฉบับวันที่ 13-19 มี.ค.2562 เป็นฉบับสุดท้าย ปิดตำนาน 49 ปีหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษThe Nationพิมพ์ถึงวันที่ 28 มิ.ย. 2562 เพื่อไปรุกออนไลน์ นิตยสารAmarin Baby & Kidsฉบับ พ.ย.-ธ.ค.2562 เป็นเล่มสุดท้าย และนิตยสารสุดสัปดาห์ฉบับเดือน ธ.ค.2562 เป็นเล่มสุดท้าย

“เพลง”เป็นสื่อแทนใจแทนอารมณ์คนฟัง หลายคนมองว่าอุตสาหกรรมบันเทิงยังดี แต่ข้อเท็จจริง เพลงและศิลปิน ถูกดิสรัปไม่ต่างจากธุรกิจ เพราะแพลตฟอร์มออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย เอื้อให้“ศิลปินอิสระ”แจ้งเกิดง่าย ทั้งทำเพลงเสิร์ฟคนฟังผ่านยูทิวบ์ สตรีมมิ่งต่างๆ ส่วนการทำตลาดใช้โซเชียลมีเดีย สื่อสารพูดคุยกับแฟนคลับ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า ศิลปิน Main Stream ด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์หรืออินฟลูเอ็นเซอร์ ยังดิสรัปศิลปิน แบ่งเค้กงานพรีเซ็นเตอร์ งานโฆษณา เรียกว่า หากศิลปิน นักร้อง นักแสดง ไม่ปรับตัว การสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง จะเจอ “คู่แข่ง” หน้าใหม่มากขึ้น

ยานยนต์กระแสรักษ์โลกบีบ สู่อีวี”  

ธุรกิจยานยนต์ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลก คือ การเข้ามาของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี แม้ว่าภาพการเปลี่ยนแปลงจะยังไม่ชัดเจน และประเมินกันว่า อีวี จะยังใช้เวลาอีกนานถึงจะขยายตัวแบบเห็นผลได้ชัดเจน เช่นเดียวกับในเวทีโลก ที่หลายประเทศเริ่มต้นมายาวนาน แต่ก็ยังมีสัดส่วนการขายไม่มากนัก

ทาดะชิ โทยะ กรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่น หรือ จามา กล่าวว่า ข้อมูลของปี2561 พบว่าทั่วโลกมียอดจำหน่ายอีวีค่อนข้างต่ำ โดย ตลาดใหญ่อย่างจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีการผลิต และขายอีวีมากที่สุดในโลก มีสัดส่วน 4-5% ตลาดสหรัฐ ซึ่งหลายเมืองมีมาตรการส่งเสริมการใช้งานอีวีอย่างจริงจัง มีสัดส่วน 2.4% ส่วนยุโรปมีสัดส่วน 0.6% โดยประเทศในยุโรปที่ใช้อีวีมากจำนวนคือ ฝรั่งเศส คิดเป็นสัดส่วน 2.1% เยอรมนี 2% ส่วนประเทศที่มีสัดส่วนการใช้สูงที่สุดคือ นอร์เวย์ ที่โดดขึ้นไปที่ 29.5% เพราะเป็นตลาดที่ส่งเสริมการใช้งานอย่างจริงจังเต็มที่ในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านภาษี สถานีชาร์จสาธารณะที่แพร่หลาย และฟรี รวมไปถึงสิทธิพิเศษในการใช้งานต่างๆ เช่น สิทธิใช้ช่องทางพิเศษ เป็นต้น

ส่วนในไทยปัจจุบันนำเข้าอีวีมาทำตลาดหลายรุ่น เช่น ฮุนได ไอออนิค, ฮุนได โคน่า, เกีย โซล อีวี, นิสสัน ลีฟ, จากัวร์ ไอเพซ, บีวายดี อี6,อาวดี้ อี-ตรอน, บีเอ็มดับเบิลยู ไอ3 และ เอ็มจี แซดเอส อีวี แต่ก็ยังไม่มียอดจำหน่ายที่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่มียอดขายหลักสิบคันเท่านั้น ยกเว้น เอ็มจี แซดเอส อีวี ที่มียอดจองแล้วประมาณ 2,000 คัน สาเหตุหลักเพราะมีราคาที่จับต้องได้ง่ายคือ 1.19 ล้านบาท จากการเป็นรุ่นเดียวที่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี อาเซียน-จีน

อย่างไรก็ตาม ด้วยทิศทางของโลก และการส่งเสริมของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ อีวี เป็นโปรดักท์ แชมเปี้ยนตัวใหม่ ผ่านการส่งเสริมการลงทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ทำให้ผู้ประกอบการหลายค่ายต้องปรับตัวเตรียมความพร้อม

บีโอไอ ระบุก่อนหน้านี้ว่ามีผู้ประกอบการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนทั้งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์รวม 54 คำขอซึ่งในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์เช่น โตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน มาสด้า เอ็มจี เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู ฟอมม์ มิตซูบิชิ และพลังงานมหานคร

ค้าปลีกมุ่งรีเทลเทคคู่ออฟไลน์-ออนไลน์

คลื่นดิจิทัลและเทคโนโลยีล้ำสมัย“ดิสรัป”ธุรกิจห้างร้านค้าปลีกไทยที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คน เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยที่ไม่ต้อง“เดินทาง”เสียค่าใช้จ่ายออกไปซื้อหาสินค้าและบริการ ที่สามารถ“คลิก”สั่งซื้อได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกมุมโลก! ยิ่งเทคโนโลยี“5จี”ที่กำลังจะเข้ามาพลิกโลกธุรกิจอีกระลอกนับเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ค้าปลีกมุ่ง“ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ”ก้าวสู่โลกไซเบอร์เทรดภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่รีเทลเทค คอมปะนี (Retail Tech Company)โดยพัฒนา“แพลตฟอร์มออนไลน์”เป็นทางเลือกเสริมช่องทางออฟไลน์ที่นับวันจะเผชิญภาวะเสี่ยงมากขึ้น

ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัล นำร่องประกาศวิสัยทัศน์“New Central, New Economy”ขับเคลื่อนธุรกิจก้าวสู่ผู้นำด้านเทคโนโลยี และดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม (Market Leader in Digi-Lifestyle Platform)โดยใช้คลื่นดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้“เซ็นทรัลกรุ๊ป”ขยายธุรกิจได้อย่างไร้พรมแดน!

ทั้งกลุ่มเดอะมอลล์ สยามพิวรรธน์ เมกาบางนา ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต รวมทั้งบรรดาไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ต่างขยับตัวครั้งใหญ่ลงทุนทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลรองรับการทำตลาดแบบครบวงจรไร้รอยต่อ

ในโลกการค้ายุคใหม่การแย่งชิงส่วนแบ่งเวลาของลูกค้าหรือTime shareคือหัวใจสำคัญ! ทำอย่างไรให้ลูกค้าใช้เวลากับเราให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะช่องทางออฟไลน์หรือบนออนไลน์ เพื่อนำสู่การจับจ่ายใช้สอย

โดยห้างร้านค้าปลีก ศูนย์การค้า ทั้งหลายวันนี้ไม่ได้มีบทบาทเพียงสถานที่จำหน่ายสินค้าอีกต่อไป แต่ทรานส์ฟอร์มสู่“ศูนย์กลางใช้ชีวิตของผู้คน”เป็น“บ้านหลังที่ 2”เป็น“แหล่งใช้ชีวิต”มองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ยิ่งแปลกและแตกต่างเท่าไรคือแม่เหล็กชั้นดีในการดึงดูดลูกค้า

โลจิสติกส์"พลิกกลยุทธ์โต้คลื่นดิจิทัล

ภาพรวมการแข่งขันในตลาดขนส่ง-บริการโลจิสติกส์ในไทยรอบปีที่ผ่านมาเติบโตมากกว่า 100% จากความนิยมของอีคอมเมิร์ซ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ มากขึ้นเราได้เห็นการ “ทรานฟอร์ม” ธุรกิจเหล่านี้อย่างคึกคัก

ปัจจุบันตลาดนี้ ผู้ครองตลาดหลักไม่ได้มีแค่ “ไปรษณีย์ไทย” ที่ครองใจคนไทยมายาวนานอีกต่อไป หากเกิดผู้เล่นรายใหม่ ทุนหนา เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยชู “นวัตกรรม” เป็นอาวุธ ขณะที่ ไปรษณีย์ไทยเองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง พยายามทรานส์ฟอร์มธุรกิจ สู่บริการรูปแบบใหม่ๆ ทันสมัย และสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล

โดยเฉพาะบริการส่งสินค้า และอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น ที่ปัจจุบันแข่งกันดุเดือด สองบริษัทเทคโนโลยี “แกร็บ-เก็ท” เร่งโหมกระแสตลาด ขยายบริการ ชิงฐานลูกค้ากันคึกคัก รวมไปถึงการทรานส์ฟอร์มไปสู่บริการการเงินเพื่อให้บริการครบจบในที่เดียว

กาหลง ทรัพย์สอาด รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานระบบปฏิบัติการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า ปี 2562 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ของไปรษณีย์ไทย ทั้งยกระดับคุณภาพบริการอีเอ็มเอส (EMS)ขยายเวลาให้ บริการ 24 ชั่วโมง 365 วัน

ล่าสุดนำเครื่อง Cross Belt Sorter ที่คัดแยกสิ่งของได้กว่า 6,500,000 ชิ้นต่อเดือนเข้ามาเพิ่มตามศูนย์ไปรษณีย์หลักๆ เพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมทั่วประเทศรองรับปริมาณงานทั่วประเทศ

ขณะที่ “แกร็บ” ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดออนไลน์ และออฟไลน์ดิลิเวอรี่พยายามดันบริการใหม่ๆหลากหลายตอบโจทย์พฤติกรรมคนยุคใหม่มากขึ้น เช่น “แกร็บฟู้ด” ที่ครองยอดออเดอร์หลายสิบล้านออเดอร์

ส่วน เก็ท (GET)วางตำแหน่งตัวเองเป็น ออนดีมานด์แอพพลิเคชั่น ยังเดินหน้าขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯตั้งเป้าสร้างอิมแพ็คต่อคนขับ ร้านค้า และผู้ใช้งานอย่างน้อย 1 ล้านคน ขณะที่ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1 ล้านครั้งโตกว่า 230%

ไลน์ อีกหนึ่งแอพใหญ่ ที่ปัจจุบันกวาดลูกค้าคนไทยไปมากกว่า 44 ล้านราย บริการไลน์แมนในกลุ่มอาหารเติบโตสูงมากมีฐานร้านอาหารอยู่ 50,000 กว่าร้าน ให้บริการส่งอาหารในกรุงเทพ และปริมณฑล และเริ่มเดินกลยุทธ์ขยายต่อไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ

ที่น่าจับตา คือ แอพออนดีมานด์ทั้ง 3 นี้ มีความพยายามทรานส์ฟอร์มไปสู่โลกการเงิน เพื่อให้บริการครบจบในที่เดียว ทำให้วันนี้เกิดบริการอย่าง แกร็บเพย์ เก็ทเพย์ และไลน์เพย์ (แร็บบิท)

แบงก์งัดกลยุทธ์สู้ดิสรัป

ธุรกิจธนาคาร รวมถึงสถาบันการเงินอื่นๆ เผชิญปัญหา “เทคโนโลยีดีสรัปชั่น”​ต่อเนื่องมากว่า 3 ปี จากพฤติกรรมลูกค้าที่เดินเข้าสาขาน้อยลง หันไปทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะช่องทางโมบายแบงกิ้ง ขณะที่คู่แข่งทางธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร ทั้งในและต่างประเทศ พยายามเข้ามา “เจาะตลาด” ลูกค้าธนาคารอย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก “อีวอลเล็ต” ไปสู่ “ระบบเพย์เม้นท์” และรุกคืบไปสู่ “การปล่อยกู้” ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลักของแบงก์

ที่สำคัญ ในระยะหลังๆ คู่แข่งของธนาคารไม่ใช่ “สตาร์ทอัพ” หรือ “ฟินเทค”ขนาดเล็ก แต่กำลังจะเป็น เป็น “เทคคัมพานี”ขนาดใหญ่ ที่ปักธงขยายกิจการมาสู่ “ธุรกิจการเงิน” ทั้งเทค คัมพานีด้านอีคอมเมิร์ซอย่างช้อปปี้ ลาซาด้า อาลีบาบา รวมถึงโซเชียลแฟลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก และไลน์ ยังไม่รวมเสิร์ชเอนจิ้นยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิ้ล ซึ่งแต่ละเจ้าล้วนมีฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กดาต้า ที่นำไปพัฒนาต่อยอดปล่อยกู้ได้ไม่ยาก

 แม้ปัจจุบันธนาคารยังมีความได้เปรียบเรื่อง “Trust” หรือ “ความน่าเชื่อถือ” ที่ลูกค้ามีให้ แต่ใช่ว่าลูกค้าจะไม่เปลี่ยนใจ หันไปหาผู้ให้บริการใหม่ หากมีผลิตภัณฑ์และบริการที่โดนใจ บนค่าธรรมเนียมที่ “ถูกกว่า” เพราะแพลตฟอร์มที่กำลังจะเข้ามากินธุรกิจธนาคาร มีทั้งฐานทุน ฐานลูกค้า ฐานข้อมูล และ “เทคโนโลยี” ที่จะเชื่อมสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน ต่อยอดไปสู่บริการที่ “ตอบโจทย์” ลูกค้าได้มากกว่าได้

ฝั่งธนาคารเอง รับรู้สถานการณ์นี้ดีกว่าใคร จึงเร่งปรับตัวด้วยการ “ทรานส์ฟอร์ม”องค์กร และธุรกิจ ทั้งการปิด-ปรับรูปแบบสาขาพร้อมหันไปจับมือเป็นพันธมิตรที่เป็นแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่ในมือนับล้านคน หวังขยายฐานปล่อยกู้ไปสู่กลุ่มดังกล่าว แต่การปรับตัวในรูปแบบดังกล่าว ดูเหมือนจะยัง “เร็วไม่พอ” หลายแบงก์จึงต้องปรับกลยุทธ์กันอีกรอบ

 อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้กลยุทธ์ “เรือเล็ก”แล่นไปออกทำธุรกิจ คู่ขนานกับ “เรือใหญ่” ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของธนาคาร ขณะที่ธนาคารกรุงไทย ซื้อกิจการธนาคารต่างชาติ เพื่อต่อเรือใหญ่ให้ใหญ่ขึ้น ส่วนธนาคารกสิกรไทยก็พยายามติดเครื่องยนต์ดิจิทัล ให้เรือใหญ่แล่นให้เร็วขึ้น เทียบเท่า “เรือเร็ว” ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อทำให้ธุรกิจธนาคาร “อยู่รอด”ท่ามกลางคลื่นเทคคัมพานีที่กำลังจะถาโถมเข้ามากินตลาดในเมืองไทย