หมดยุคทองหุ้น IPO ธุรกิจเล็กส่อระดมทุนเหนื่อย

หมดยุคทองหุ้น IPO ธุรกิจเล็กส่อระดมทุนเหนื่อย

ช่วงเวลาประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา หุ้นไอพีโอเป็นดั่งขุมทรัพย์ของนักลงทุน เพียงแค่สามารถฝ่าฟันเพื่อให้ได้สิทธิ์จองซื้อมาได้ก่อน โอกาสที่จะได้กำไรสูงมากหลังจากที่หุ้นเหล่านั้นเข้ามาซื้อขายในตลาด

อย่างปี 2559 มีหุ้นที่เข้าจดทะเบียนรวมกันทั้งในตลาด SET และ MAI รวม 23 บริษัท ปรากฎว่า ราคาของหุ้นทุกตัวสามารถปิดบวกได้ทั้งหมดในวันแรก

...หรือ ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดปรับตัวลงตลอดทั้งปี จากดัชนี SET ประมาณ 1,500 จุด ไปปิดปีที่ 1,288 จุด แต่หุ้นไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนในตลาด SET และ MAI รวม 33 บริษัท ให้ผลตอบแทนเป็นบวกในวันแรกได้ถึง 27 บริษัท คิดเป็น 81.8%

ถัดมาในปี 2560 – 2562 โอกาสของหุ้นไอพีโอที่จะปิดบวกในวันแรกนั้นค่อยๆ ลดลง โดยปี 2560 ปิดบวกวันแรกได้ 31 บริษัท จากทั้งหมด 38 บริษัท คิดเป็น 81.5% ปี 2561 ปิดบวกได้ 10 บริษัท จากทั้งหมด 18 บริษัท คิดเป็น 55.5% และในปี 2562 ปิดบวกได้ 16 บริษัท จากทั้งหมด 28 บริษัท คิดเป็น 57.1%

แต่ปัญหาที่มากไปกว่านั้นคือ หลังจากที่เข้าจดทะเบียนได้ระยะหนึ่งแล้ว หุ้นส่วนมากกลับค่อยๆ ปรับตัวลงจนราคาหุ้นต่ำกว่าราคาไอพีโอค่อนข้างมาก

จากการเก็บสถิติล่าสุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีหุ้นไอพีโอที่เข้าจดทะเบียนในตลาด SET และ MAI รวมทั้งสิ้น 84 บริษัท (ไม่รวมกองทุน) พบว่ามีเพียง 20 บริษัท ที่ราคาหุ้นในปัจจุบันอยู่สูงกว่าราคาไอพีโอ หรือคิดเป็นเพียง 23.8%

หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะเห็นว่า หุ้นส่วนมากที่ราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เป็นหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด MAI จากข้อมูลราคาปิด ณ วันที่ 26 ธ.ค. 2562 มีหุ้นไอพีโอในตลาด MAI เพียงแค่ 4 บริษัท จากทั้งหมด 47 บริษัท ที่ราคายังสูงกว่าราคาไอพีโอ หรือคิดเป็นเพียง 8.5% เท่านั้น

ส่วนหุ้นเข้าใหม่ในตลาด SET ที่ยืนเหนือราคาไอพีโอมีทั้งสิ้น 16 บริษัท จากที่เข้ามาทั้งหมด 37 บริษัท คิดเป็น 43.2%

ประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า ภาวะการลงทุนหุ้นไอพีโอปีหน้า สำหรับหุ้นที่มีขนาดเล็กอาจจะเข้ามาระดมทุนในตลาดยากมากขึ้น เนื่องจากสถิติในช่วง 2- 3 ปีที่ผ่านมาของหุ้นขนาดเล็กซึ่งขายหุ้นไอพีโอและเข้าจดทะเบียนในระยะแรก มีผลงานที่ไม่ค่อยดีนัก

ส่วนหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่น่าจะยังได้รับความสนใจจากนักลงทุนอยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากนักลงทุนสถาบัน ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นขณะเดียวกันนักลงทุนน่าจะให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานของหุ้นมากขึ้น และมองเป็นภาพของการลงทุนยาว

“ในปีหน้าเชื่อว่าภาพรวมของการลงทุนหุ้นไอพีโอจะถูกกระทบในระดับหนึ่ง ทั้งจากภาวะตลาดที่ผันผวนในเชิงลบ ขณะเดียวกันผลงานในระยะหลังก็ไม่ค่อยดีนัก เมื่อนักลงทุนเห็นว่าความเสี่ยงของหุ้นไอพีโอสูงขึ้น ก็ย่อมที่จะต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงน่าจะได้เห็นบริษัทที่ต้องการระดมทุนกำหนดราคาในระดับที่ต่ำลงมาเมื่อเทียบกับตลาดหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน”

นอกจากนี้ หากประเมินส่วนต่างราคาหุ้นในปัจจุบันเทียกกับราคาไอพีโอ (Capital gain) ระหว่างปี 2560 - 2562 จะเห็นว่าผลตอบแทนจากการลงทุนติดลบทั้งหมด โดยเฉพาะหุ้นเข้าใหม่ในตลาด MAI ที่ติดลบ 38.9% 17.1% และ 27.9% ตามลำดับ ขณะที่ผลตอบแทนของหุ้นเข้าใหม่ในตลาด SET ติดลบ 9.5% 25.9% และ 7.3% ตามลำดับ 

157815397048

"จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ให้คำแนะนำถึงแนวทางในการพิจารณาหุ้นไอพีโอว่ามีความน่าสนใจที่จะเข้าลงทุนหรือไม่ โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาธุรกิจของบริษัท และประเมินว่าอยู่ในอุตสาหกรรมที่เป็นขาขึ้นหรือขาลง

ถัดมาคือ ‘วัตถุประสงค์การใช้เงิน’ โดยหลักแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ‘นำไปขยายธุรกิจ’ เป็นวัตถุประสงค์ที่ดีต่อผู้ลงทุนมากที่สุด ‘นำไปชำระเงินกู้’ ข้อดี คือ ช่วยลดภาระดอกเบี้ย ‘นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน’ เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก และจะเกิดคำถามว่าที่ผ่านมาบริษัทไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอหรืออย่างไร แต่จะมีข้อยกเว้นสำหรับบางธุรกิจที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนมากๆ เช่น โลจิสติกส์

ประเมิน ความถูก ความแพง ของราคาที่เสนอขายเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม โดยอาจจะใช้อัตราส่วนทางการเงินอย่าง P/BV, P/E ทั้งนี้ หากเป็นหุ้นที่ตั้งราคาสูงกว่าตลาด แม้บริษัทจะจัดสรรหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันมาก ก็มีโอกาสจะถูกเทขายออกมาในช่วงแรกได้ และหากบริษัทจัดสรรหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อยในสัดส่วนที่มาก ก็มีโอกาสจะถูกเทขายวันแรกเพิ่มขึ้น เพราะธรรมชาติของนักลงทุนรายย่อยมักจะไม่ถือหุ้นยาว

สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมา รายได้ควรจะเพิ่มอย่างต่อเนื่อง อัตรากำไรขั้นต้นอย่างน้อยควรจะไม่ลดลง หากลดลงเรื่อยๆ ก็อาจสะท้อนว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมรุนแรง และหุ้นไอพีโอบางตัวที่เข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์ Market Cap. ถ้าต้องการจะซื้อหุ้นเหล่านี้ ควรต้องคาดการณ์ให้ได้ว่าหลังจากระดมทุนแล้ว บริษัทจะทำกำไรได้จริงในอนาคต

ขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้นหลังไอพีโอ ผู้ถือหุ้นเดิมหรือเจ้าของควรจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 55% เพราะถ้าถือน้อยเกินไป อาจจะขาดแรงจูงใจในการทำงานเพื่อสร้างความมั่งคั่ง